เปิดวิชัน “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” กับบทบาท “ผู้นำ” ธุรกิจ Exhibition Organizer

25 ต.ค. 2567 | 22:15 น.

เปิดวิชัน “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้บริหารหญิงระดับแนวหน้าในวงการเอ็กซิบิชันออแกไนซ์เซอร์ กับแนวคิดของความต่าง ที่บาลานซ์ไปในทิศทางเดียวกันได้

เมื่อคนยุคใหม่ เริ่มให้ความสำคัญกับความสามารถมากกว่าเพศสภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการทำงาน แต่โอกาสที่ผู้หญิงจะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” หรือ CEO ยังมีมุมมองที่เป็นข้อจำกัดและมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารหญิงระดับแนวหน้าในวงการเอ็กซิบิชันออแกไนซ์เซอร์ “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (Regional Portfolio Director ASEAN, Informa Markets) ที่ล่าสุดพ่วงตำแหน่ง Country General Manager –Philippines ถึงแนวคิดและวิชัน บนเส้นทางธุรกิจในวันนี้

“โรส-รุ้งเพชร” เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันผู้บริหารหรือหัวหน้างานต่างสามารถเป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แม้การรับรู้เรื่องเพศจะยังคงมีส่วนสำคัญทำให้มุมองต่างกันอยู่บ้าง โดยผู้หญิงมักเข้าถึงความรู้สึกของพนักงานได้มากกว่าผู้ชาย มีความเป็น Multitasking สามารถทำหลายสิ่งพร้อมกันได้ รับผิดชอบหลายหน้าที่ มีความละเอียดสูง ขณะผู้ชายจะบริหารงานด้วยความเฉียบคมมากกว่า มีความมั่นใจ ไม่คิดมาก และกล้าเสี่ยง

เรียกได้ว่าผู้หญิงมีโอกาสได้ทำงานมากขึ้นและมีสัดส่วนเพิ่มจากในอดีตมาก แต่โอกาสของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำ” ก็ยังน้อย งานด้าน Exhibition Organizer ก็เช่นเดียวกัน สังเกตได้ว่าตำแหน่งทีมงานส่วนใหญ่มักเป็น “ผู้หญิง” ส่วนระดับหัวหน้ากลับเป็น “ผู้ชาย” และข้อจำกัดของผู้หญิงจะมีช่วงของการมีลูกประจวบเหมาะกับช่วงที่ชีวิตงานกำลังจะเจริญก้าวหน้าพอดี ซึ่งประเทศไทยตอนนี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง อายุน้อย ถือว่าช่วยในเรื่องของการยอมรับของสังคมมากขึ้น ว่าผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำได้ แต่องค์รวมก็ต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพการแสดงออกด้วย

 

เปิดวิชัน “รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์” กับบทบาท “ผู้นำ” ธุรกิจ Exhibition Organizer

“โรส” เล่าว่า เส้นทางของตัวเองที่กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น “ลีดเดอร์” ในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน ของอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ก็ไม่ง่ายเลย จุดเริ่มต้นตอนทำงานครั้งแรกอยู่ในตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการ มีโอกาสกาสได้ทำงานร่วมกับหัวหน้าผู้หญิงที่เป็นคนไทย ซึ่งเสมือนครูที่เป็นคนเก่งมาก หลังจากนั้นก็ได้รับผิดชอบโปรเจ็คต์มากมายรวมระยะเวลา 13 ปี ก่อนมีโอกาสได้เข้าทำงานกับบริษัทต่างชาติมีและทำงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประมาณ 6 ปี กระทั่งกลับมาทำงานร่วมกับ CEO ผู้หญิงอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางการทำงานตลอด 28 ปี “โรส” บอกว่า จุดพีคที่สุดของการทำงานและเป็นจุดเปลี่ยนจนทำให้ก้าวขึ้นมาได้คือ ถูกส่งไปอินเดียเมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองทางตอนเหนือของกรุงเดลีประมาณ 2 ปี ตอนนั้นมีปัญหาคือเมืองไทยถูกมองเป็น Sex Trade และมักถูกด้อยค่าจากคนอินเดียที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ ความคิดของผู้หญิงจะถูกมองข้ามและไม่ได้รับการยอมรับ ฉะนั้นต้องทำตัวเองให้แกร่งขึ้นแม้เป็นเรื่องยากมากสำหรับผู้หญิงไทย

“ส่วนตัวโชคดีตั้งแต่เริ่มทำงาน ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนล้วนได้พบกับทีมงานเก่ง การไปอยู่อินเดียทำให้เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเราแกร่ง ทำงานร่วมกับพาร์เนอร์ได้ เป็นผู้หญิงก็ทำงานได้ ทุกอย่างหล่อหลอมให้กลายเป็นคนที่คิดอะไรได้รอบด้านมากขึ้น สามารถยืนอยู่ในจุดที่ทำให้ทุกคนเคารพความเป็นผู้หญิง เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนก็ตาม”

“โรส” บอกอีกว่า หลักการสำคัญสำหรับการบริหารคนในฐานะ “ผู้นำ” ที่ทำอยู่ คือ ใส่ใจกับการทำงานของทุกคน แม้ในมุมของลูกน้อง จะมองว่า ตัวเองเป็นคนดุและน่ากลัว แต่สามารถบาลานซ์การทำงานได้ ซึ่งคนที่ทำงานร่วมกันต้องมีทัศนคติที่ดี พร้อมรับโอกาสที่เข้ามาอยู่ตลอด ถือเป็นเรื่อง Soft Skills หรือทักษะที่ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของการทำงานกัน โดยวิธีการทำงานก็ต้องลงลึกในเรื่องรายละเอียดขอบเขตของงานที่รับผิดชอบทั้งหมด ว่ากล่าวตักเตือนลูกน้องทันทีหากมีความผิดพลาด ไม่ยื้อให้เป็นปัญหาในระยะยาว และจบเร็ว

ส่วนแนวคิดการบริหารงานจะใช้วิธีการบอกที่มาที่ไปของงานกับลูกน้อง ให้วิธีการคิดเมื่อจะมอบหมายงาน เพื่อให้ลูกน้องคิดเป็น คิดได้ด้วยตัวเอง เพราะโดยทั่วไปของเด็กในยุคใหม่หากได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจะเข้าใจได้ดีและมีความภูมิใจมากกว่าการถูกสั่งให้ทำเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ระบบการประชุมต้องจบใน 1 ชั่วโมง ไม่วกวน และหลีกเลี่ยงการประชุมบ่อยๆ เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อการทำงาน ซึ่งเป็นข้อที่ยากที่สุด เพราะหัวหน้าจะต้องอัพเดทข่าวสารจากการประชุม โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับ Exhibition

“ความแตกต่างของเจนเนอเรชั่น เป็นสิ่งสำคัญ “ผู้นำ” ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนทำงานกล้าแสดงออก เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ไปในทิศทางเดียวกัน”

ในด้านการบริหารงานความแตกต่างของเจนเนอเรชั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ หัวหน้าหรือผู้นำต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนทำงานให้กล้าแสดงออก เพื่อให้เกิดความบาลานซ์ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะความต่างของวัยมักเป็น Political Point ฉะนั้นการทำให้คนทุกเจนเนอเรชั่นยอมรับการทำงานร่วมกันคือสิ่งที่ต้องทำ โดยไม่เกิดการเปรียบเทียบว่าใครทำน้อย ใครทำมาก เพราะแต่ละคนรับผิดชอบไม่เหมือนกัน แค่โฟกัสและแข่งกับตัวเอง ซึ่งทีมทำงานภายใต้การปกครองจะมีอยู่ในทุกช่วงอายุ

ยกตัวอย่าง Gen-B หรือ Baby Boomer ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 57- 60 ปี จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างเดียว ถัดมาคือ Gen-X อยู่ในช่วงอายุ 50 ปี เป็นประเภทหากไม่ถาม จะไม่พูดตอบโต้อะไร ขณะที่ทีมงานส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 40 ปี ที่เหลืออยู่ในช่วงอายุ 30+ ปี เป็น Gen-Y ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูง รู้สึกอึดอัดหากมีคนมาพูดถามมาก สามารถมิกซ์กับรุ่น Gen-X ได้

ส่วน Gen-Z เป็นประเภทที่ทำงานแบบมองหาความแฟร์และต้องไม่ใช่งานหนัก ควบคุมยากสุดแต่มีความคล่องตัวสูง ที่เหลือคือ Gen-A (Alpha) รุ่นลูกที่เกิดมาแล้วมีพร้อมทุกอย่าง อยู่แบบสบาย แต่สามารถป้อนข้อมูลให้ได้ ซึ่งหลักคิดของคนจะค่อนข้างแตกต่างกัน ฉะนั้นจะต้องบาลานซ์การทำงานของคนแต่ละเจนเนอเรชันเข้าด้วยกันให้ได้ และความคาดหวังจะไม่เหมือนกัน แต่ละคนสามารถรับการสื่อสารได้ไม่เท่ากัน

“คนเป็นผู้นำต้องมีวิธีการจัดการทำงานของลูกน้อง ต้องเป็นผู้รับฟังที่ดี และต้องฟังด้วยใจ การบริหารคนยากและต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอแม้แต่ตัวเราเอง เพราะแต่ละยุคสมัยมีส่วนเกี่ยวข้องกัน เช่น การใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแต่สิ่งสำคัญคือต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน อีกทั้งการให้โอกาสกับคนรุ่นหลังหรือเด็กรุ่นใหม่ ให้ได้เรียนรู้การทำงานด้วยตัวเองจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราาะหากเคยได้รับโอกาสก็อยากส่งต่อโอกาสให้คนอื่นด้วย”

สำหรับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ตอนนี้ตำแหน่งระดับผู้อำนวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคในอาเซียนที่เป็นผู้หญิงมีอยู่ 2 คน คืออยู่ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย จากทั้งหมด 7 คน ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้ชาย เพราะต้องมีความรู้รอบด้านทั้งในองค์กรและนอกองค์กร มีทักษะการเจรจาต่อรอง การตอบคำถาม หลายองค์ประกอบต้องพัฒนาให้ตัวเองแกร่งขึ้นมาอีกระดับให้ได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้โอกาสผู้หญิง ถ้ามีความหลากหลายขึ้นในระดับ Leader ship และให้ผู้หญิงทำงานในตำแหน่งนี้มากขึ้น น่าจะช่วยสร้างศักยภาพและโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจได้มากขึ้น และหากมีโอกาสผู้หญิงควรคว้าไว้และพยายามทำให้ดีที่สุดด้วยความมั่นใจและมีความกล้าที่จะแสดงออกและสิ่งสำคัญคือต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถปกครองคนได้เช่นเดียวกัน