FETTA ยื่นสมุดปกขาวชง 11 ประเด็นเสนอรัฐบาล ขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2568

06 มิ.ย. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2567 | 00:59 น.

สมาคมสมาพันธ์การท่องเที่ยวไทย ชงสมุดปกขาว เสนอรัฐบาล 11 ประเด็นขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2568 จี้ Re-positioning ยกระดับ Supply Size นำหน้าการตลาด สร้างสมดุลกระจายรายได้ ปลดล็อคกม.ให้แรงงานต่างชาติทำงาน ตั้งงบตั้งต้น 3,500 ล้านบาท เป็นกองทุนบริหารจัดการภาวะวิกฤต

การท่องเที่ยวจัดเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในปี 2568 รัฐบาลจะประกาศให้เป็น "ปีท่องเที่ยวไทย" เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็น "วาระแห่งชาติ"

ดังนั้นสมาคมสมาพันธ์การท่องเที่ยวไทย(FETTA) ซึ่งประกอบไปด้วย องค์กรวิชาชีพการท่องเที่ยวภาคเอกชนจาก 9 สมาคมชั้นนำ และเครือข่ายสมาคมภาคการท่องเที่ยวในส่วนกลางและภูมิภาคจากภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออก ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และ อ่าวไทย จึงได้ระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงาน หรือ White Paper (สมุดปกขาว) เพื่อนำเสนอแก่รัฐบาล

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า FETTA เตรียมนำสมุดปกขาวยื่นผ่านนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อพิจารณาถึงความสำคัญในการนำไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างเป็นระบบ  โดยมีข้อเสนอใน 11 ประเด็นที่จะนำเสนอรัฐบาล  ได้แก่

1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐที่มีเครือข่ายส่วนกลางและภูมิภาคเสมือนทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยให้ข้อมูล ความเคลื่อนไหว และ เสนอแนะแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมให้ฝ่ายนโยบายพิจารณา เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาท่องเที่ยวไทย

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์

2.จัดทำแผนการพัฒนาและตัวชี้วัดที่ให้ความสำคัญในการพัฒนา Supply Size ควบคู่กับ Demand Size ภายใต้เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศด้วยการกระจายรายได้ และ ความเจริญที่มีความสมดุลทั้งในสังคมเมืองและชนบท

โดยจัดทำแผน Thailand Tourism Carrier Capacity Blueprint ที่เป็นการทำงานร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ นักวิชาการทำร่วมกันเพื่อจัดวางพัฒนาการท่องเที่ยวไปในทิศทางเดียวกันบนศักยภาพที่มีให้เกิดเอกภาพในขับเคลื่อนร่วมกันในทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยว มักถูกกำหนดให้ขับเคลื่อนภายใต้ตัวเลข รายได้ และ จำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อดูมิติด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ การจัดสรรงบประมาณ อย่างการลงทุนด้านสาธารณูปโภค จึงอยู่ที่เมืองหลักเกิดการกระจุกตัวของการท่องเที่ยว ทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากเกิดความเสื่อมโทรม มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่เมืองรองกลับมีข้อจำกัดทุกด้าน

ดังนั้นต้องปรับมุมมองการบริหารภาคการท่องเที่ยวไทย หรือ Re-positioning ที่จะทำให้ “การท่องเที่ยวต้องสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยทั้งมวล และ นำมาซึ่งความยั่งยืนของสังคม เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างสมดุล”

FETTA ยื่นสมุดปกขาวชง 11 ประเด็นเสนอรัฐบาล ขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2568

เราต้องยกระดับด้าน Supply Size นำหน้าการตลาด เพื่อสร้างสมดุลในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง แผนบริหารจัดการรองรับนักท่องเที่ยว และ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวในเมืองรอง

ทั้งนี้รัฐบาลเลือกส่งเสริมเมืองรองนำร่อง จากการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติในเมืองรองของแต่ละภูมิภาคที่มีศักยภาพและความพร้อมในการรองรับ แทนการลงทุนสร้างท่าอากาศยานใหม่ในพื้นที่เมืองหลักเช่น สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา มาเป็นสนับสนุน ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงราย ลำปาง กระบี่ หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช

ทำให้เกิดกระจายตัวจากท่าอากาศยานหลักที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา หากรัฐบาลส่งเสริมออกมาตรการในการให้สายการบินเพิ่มเที่ยวบินลงสู่เมืองรองด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียม เพิ่มสิทธิพิเศษทางการบิน และ สนับสนุนงบประมาณการตลาดในการนำเที่ยวบินสู่เมืองรอง จะทำให้การวางแผนเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และ ค่าตั๋วโดยสารเที่ยวบินไปเมืองหลักของการเดินทางภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณในการลงทุนสร้างสนามบินใหม่

รวมถึงการใช้ขนส่งทางบก ทางน้ำ เป็นเส้นทางเชื่อมโยงในพื้นที่ทางรถยนต์  ระบบราง และ ลำน้ำ โดยการใช้กฏหมายการร่วมทุนหรือ PPP มาเป็นเครื่องมือให้เอกชนมาช่วยลงทุน ซึ่งจะมีความรวดเร็ว คล่องตัว และยืดหยุ่นในการบริหาร เช่น การเปิดโอกาสให้ เอกชน เช่ารางรถไฟในพื้นที่ ทำระบบขนส่งทางรางขนาดเล็ก เพื่อวิ่งเชื่อมโยงระยะสั้น เป็นต้น

3.ขับเคลื่อนการแก้ไขข้อกฎหมายด้านแรงงานการท่องเที่ยวในตำแหน่งที่ขาดแคลนและคนไทยไม่ยอมรับในตำแหน่งงานนั้น ๆเพื่อหาแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน

FETTA ยื่นสมุดปกขาวชง 11 ประเด็นเสนอรัฐบาล ขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2568

ปัจจุบันท่องเที่ยวมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานโรงแรมในหลายแผนกขาดบุคลากรทั้งในส่วนมีทักษะ และ ไม่มีทักษะ  จำนวนมัคคุเทศก์ในภาษาพิเศษเฉพาะเช่น ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และเยอรมัน ปัจจุบันหาบุคลากรรุ่นใหม่ทดแทนแทบไม่ได้ และที่ทำงานอยู่ล้วนอยู่ช่วงสูงวัยทั้งสิ้น

4.การอำนวยความสะดวกการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าประเทศ การเพิ่มเที่ยวบิน และ กระจายนักท่องเที่ยวสู่สนามบินในภูมิภาคด้วยมาตรการยกเว้นวีซ่า การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) และการบริการภาคพื้นในสนามบินต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนเที่ยวบินภายในประเทศให้มีอัตราที่ถูกลงจากการเพิ่มสายการบินเข้าสู่ตลาดการแข่งขันให้ปริมาณเพียงพอและกระจายตัวเป็นทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น

5. การส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการให้เข้าการใช้งานดิจิตอล( Digital Transformation)ด้วยการสนับสนุนงบประมาณใช้ซอพแวร์ที่ต้นทุนถูกลงเพื่อแข่งขันและรองรับความเปลี่ยนแปลงของด้านแข่งขันของการท่องเที่ยวโลก

6. การออกแบบเส้นทาง หรือ แหล่งท่องเที่ยวในยามค่ำคืนเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกเดือดที่ทำให้เกิดอันตรายต่อนักท่องเที่ยวจากอาการ Heat Stroke เช่น โครงการนำร่องแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของรัฐในเวลาเย็นและค่ำโดยมีระบบการบริการและความปลอดภัยรองรับที่ดี

7.การแก้ไขกฎเพดานการใช้งบประมาณภาครัฐในการจัดประชุมสัมมนาที่ไม่ได้ปรับปรุงมานาน เพื่อสอดรับกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐ

8.การจัดตั้งงบประมาณพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยให้ภาคเอกชน ชุมชน มีส่วนร่วมในการบริหาร และ เป็นกองทุนที่นำมาใช้บริหารจัดการภาวะวิกฤตด้านการท่องเที่ยวโดยตรง จากการประเมินตัวนักท่องเที่ยวในแต่ละปีเช่น ปี 2567 เป้าหมาย 35 ล้านคนคนละ 100 บาท ประมาณ 3,500 ล้านบาทเป็นงบประมาณตั้งต้น

9. จัดทำโครงการพื้นที่นำร่องจากนโยบาย การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดหลัก โดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้าน demand & supply ควบคู่กัน และมีคณะกรรมการร่วมช่วยกันประเมินและปรับปรุงให้ต้นแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมาใช้งานให้ครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่อยกระดับดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (TTDI) ที่เป็นจุดอ่อนในปัจจุบันที่เป็นรูปธรรม

10. การแก้กฎหมาย พรบ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ปัจจุบันที่มีปัญหามากมายในการบังคับใช้และเป็นช่องโหว่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในด้านโครงสร้าง และ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายในเชิงธุรกิจอย่างเร่งด่วน

11. มาตรการส่งเสริมการตลาดในพื้นที่เป้าหมายเช่นเมืองรอง และช่วงโลว์ซีซั่น ทั้งตลาดในและต่างประเทศ

ทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ภาคการท่องเที่ยวมองว่ามีความสำคัญ ที่ต้องได้รับการพัฒนาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเพื่อรองรับการประกาศการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ และการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวโลกตามนโยบายของรัฐบาล