สายการบินนกแอร์ สายการบินของคนไทย วางยุทธศาสตร์ใหม่ มุ่งสู่ “Premium Airlines” ที่ยังคง
ความคุ้มค่า ตอบสนองทุกความต้องการในการเดินทาง ภายหลังกลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี ด้วยบริการแตกต่างเหนือสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไป
พร้อมยกระดับการบริหารจัดการ สร้างสถิติเที่ยวบินตรงเวลาเกินกว่า 85% สูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลก ปักธงขยายเครือข่ายการบินสู่ต่างประเทศเพิ่มเติม หลังผ่านมาตรฐานความปลอดภัย IOSA และการเข้าเป็นสมาชิก IATA
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า “นกแอร์” ในฐานะสายการบินของคนไทย ได้วางยุทธศาสตร์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจ โดยวางตำแหน่งทางการตลาดให้นกแอร์ ก้าวสู่ความเป็น “สายการบิน Premium Airlines” ที่ยังคงความคุ้มค่า แต่สามารถตอบสนองทุกความต้องการในการเดินทาง ผ่านการยกระดับการให้บริการที่แตกต่างเหนือจากธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไปเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามราคาและก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องจากปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่นกแอร์ครบรอบการดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี
สายการบินนกแอร์มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของผู้โดยสาร ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์อันเป็นจุดแข็งของสายการบิน เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการให้สูงกว่ามาตรฐานของสายการบินต้นทุนต่ำทั่วไปเพื่อสร้างความประทับใจสูงสุดแก่ผู้โดยสาร
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้บริการ “ห้องรับรองพิเศษ” (NOK AIR LOUNGE) ภายในท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อให้บริการผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารประเภท Nok MAX รวมทั้งยังเปิดจำหน่ายบริการการเข้าใช้งานห้องรับรองพิเศษ สำหรับผู้โดยสารที่ถือบัตรประเภทต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ยังนำเสนออีกจุดเด่นของสายการบินนกแอร์คือที่นั่งบนเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 737-800 ทั้ง 14 ลำ ที่มีระยะห่างระหว่างที่นั่งเฉลี่ย 31 นิ้ว มากกว่าค่าเฉลี่ยสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางตลอดเที่ยวบิน
นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ยังได้บริหารจัดการชั่วโมงการปฏิบัติการบินใหม่ ทำให้มี “สถิติมาตรฐานการตรงเวลา” (The On-time Performance) เกินกว่า 85% ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลก
สำหรับปัญหาเที่ยวบินล่าช้านั้นเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศในช่วงฤดูฝน หรือมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่อยู่เหนือการควบคุมของสายการบิน สายการบินนกแอร์ได้เน้นบริหารจัดการในส่วนที่สามารถควบคุมได้ เพื่อป้องกันเที่ยวบินล่าช้า
อีกทั้งในกรณีเครื่องบินไม่สามารถทำการบินได้ สายการบินนกแอร์ได้จัดทำสัญญากับสายการบินพันธมิตรในการเช่าเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อย้ายผู้โดยสารของไปบินกับสายการบินพันธมิตรแทนในกรณีจำเป็น
ในขณะเดียวกันสายการบินนกแอร์ยังได้ทำสัญญากับบริษัทจัดการอะไหล่ในการบริหารอะไหล่เครื่องบินไว้ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง จากการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพทำให้มาตรฐานการตรงเวลาของนกแอร์สูงเกินมาตรฐานเฉลี่ยทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้สายการบินนกแอร์ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบบัตรโดยสาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสารที่แตกต่างกัน ได้แก่
การมีทางเลือกในการซื้อบัตรโดยสารหลากหลาย ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อบัตรโดยสาร Nok MAX และ Nok X-tra มากขึ้นเพราะเห็นถึงความคุ้มค่า ทำให้สายการบินนกแอร์มีรายได้จากจำหน่ายบัตรโดยสารเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในปีนี้ สายการบินนกแอร์ยังเปิดจำหน่ายบริการ “Private Seat” โดยจะเว้นที่นั่งตรงกลางไว้ ทำให้ผู้โดยสารที่ซื้อบริการนี้จะรู้สึกสะดวกสบายมากขึ้นระหว่างการเดินทาง ผู้โดยสารสามารถซื้อบริการเสริมนี้ได้ที่เคาน์เตอร์เช็คอินก่อนการเดินทางล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ในราคาเพียง 299 บาท/ที่นั่ง
ในขณะเดียวกันสายการบินนกแอร์ยังจะต่อยอดการให้บริการ Pet On Board เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมาเปิดให้บริการแบบเช่าเหมาลำและได้รับการตอบรับที่ดี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เพื่อขอเปิดให้บริการ “Pet On Board” ในลักษณะการเปิดบริการทุกเที่ยวบิน โดยจะกันที่นั่ง 6 แถวหลังสุดเพื่อให้บริการสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมกับผู้โดยสารในบางเที่ยวบิน
เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ทั้งสัตว์เลี้ยงที่ต้องการเดินทางพร้อมเจ้าของ หรือความจำเป็นในการเดินทางมารักษาในกรุงเทพฯ ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเดินทางไปพร้อมผู้โดยสาร สัตว์เลี้ยงจะต้องอยู่ในกรงที่มีแผ่นรองซับของเสีย และมีมาตรการด้านสุขอนามัยในการรักษาความสะอาดเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสารท่านอื่น
นอกจากนี้สายการบินนกแอร์กำลังจะเปิดให้บริการ “WiFi In-flight streaming” เพื่อยกระดับการเดินทาง
โดยนกแอร์จะร่วมมือกับ VIU หรือ วิว ซึ่งเป็นผู้นำด้านการให้บริการวีดีโอ สตรีมมิ่งแบบ OTT (Over the Top) อันดับ 1 ของเอเชีย บริการด้านความบันเทิงที่รวมซีรีส์รายการทีวี หรือ e-book (อีบุ๊ค) บนเที่ยวบินผ่านอุปกรณ์สื่อสารของผู้โดยสาร
นายวุฒิภูมิ ยังกล่าวต่อว่า ล่าสุดสายการบินนกแอร์ ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการ IOSA (IATA Operational Safety Audit) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA อย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สายการบินนกแอร์มีแผนจะขยายเส้นทางบินออกสู่ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบินเพิ่มจากจาก 12 ชั่วโมงต่อวัน ไปเป็น 13 ชั่วโมงต่อวันในช่วงปลายปีนี้ เตรียมจะเปิดบินสู่หลายจุดหมายในประเทศอินเดียและจีน ส่วนที่ประกาศไปแล้วคือ เส้นทางบินตรงท่าอากาศยานดอนเมือง-หนานจิง เริ่มบินวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ส่วนเส้นทางบินภายในประเทศ เตรียมจะเปิดบินดอนเมือง-กระบี่ วันที่ 2 สิงหาคมนี้
สายการบินนกแอร์ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมองว่าปีหน้าสัดส่วนเส้นทางบินในประเทศและระหว่างประเทศ
จะอยู่ที่ 70 : 30 จากการเพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ที่สูงขึ้น ประกอบกับการลดค่าใช้จ่าย ภายใต้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะการบริหารต้นทุนค่าเช่าเครื่องบิน การเพิ่มชั่วโมงการบิน และการปรับแบบเครื่องบินในฝูงบินให้เหมาะสม
โดยได้นำเครื่องบินรุ่น Q400 จำนวน 8 ลำ ทยอยคืนผู้ให้เช่า เหลือการให้บริการเฉพาะโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ ทำให้ในปี 2566 ที่ผ่านมา นกแอร์กลับมาทำกำไรครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดยมีรายได้รวม 8,750 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1,283 ล้านบาท หรือ 17% มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 47.66 ล้านบาท ถือเป็นปีที่สายการบินนกแอร์ฟื้นตัว
จากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่องสายการบินนกแอร์ ยังมุ่งมั่นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเตรียมศึกษาการใช้เชื้อเพลิงอากาศแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ที่อยู่ในขั้นเตรียมการทดลอง และการยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงผู้ผลิตเครื่องยนต์ ผู้ผลิตเครื่องบิน
นอกจากนี้ วัตถุดิบ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้บริการแก่ผู้โดยสาร ล้วนคำนึงถึงอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้ในการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น อาหารที่ใช้ให้บริการบนเที่ยวบิน กระดาษชำระ นิตยสาร เป็นต้น