สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย รายงานว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดรัสเซียอย่างต่อเนื่อง
โดยในเดือนตุลาคม 2565 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปรัสเซีย 40.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวลงจากเดือนที่ผ่านมา 24.58% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลง -67.87% ขณะมูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียสะสมช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่า 494.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -40.31%
โดยในเดือนตุลาคม 2565 สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปรัสเซีย มีสัดส่วน 71.18% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.43% โดยรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เคยเป็นหมวดที่ครองสัดส่วนมูลค่าสูงสุดมาโดยตลอดยังคงหายไปจากตารางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนในระบบห่วงโซ่อุปทานและผลพวงของมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย
ขณะที่สินค้า 8 ใน 10 อันดับแรกของไทยที่ส่งไปรัสเซียในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 มีอัตราการขยายตัวในแดนบวกในอัตราที่น่าพอใจ ได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, เม็ดพลาสติก, น้ำมันสำเร็จรูป, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว
ส่วนผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูงที่สุดกลับหดตัวลง จึงมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่ารวมของทั้งเดือน อีกทั้ง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ก็หดตัวลงในอัตราสูงเช่นกัน
อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกของแต่ละรายการในแต่ละเดือนค่อนข้างจะมีความผันผวนอันอาจเป็นผลมาจากจังหวะและรอบเที่ยวเรือขนส่งที่เข้าเทียบท่ารัสเซียที่ยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งคำสั่งซื้อสินค้าที่ไม่สม่ำเสมอ
ทั้งนี้ช่วงเริ่มต้นที่รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังรัสเซียในเดือนมีนาคมหดตัวลงอย่างรุนแรงถึง -73% ต่อเนื่องมาในเดือน เมษายน –77% เดือนพฤษภาคม -65% เดือนมิถุนายน -53% เดือนกรกฎาคม -43% และเดือนสิงหาคม -25% ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีแนวโน้มการชะลอตัวที่ลดลงเป็นลำดับ
โดยประเมินได้ว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของรัสเซียบรรเทาลง โดยมีสายการเดินเรือใหม่ ๆ ในแถบเอเชียเข้ามาให้บริการขนส่งสินค้าเข้า-ออกรัสเซียมากขึ้น เพื่อทดแทนสายการเดินเรือหลักของยุโรปที่ถอนตัวออกไป รวมทั้งไม่มีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ นอกจากนี้ยังได้อานิสงส์จากเงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยให้ต้นทุนสินค้านำเข้าของรัสเซียไม่สูงเกินไป
อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายนยอดการส่งออกเริ่มหดตัวเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งเป็น -35% ต่อเนื่องมาถึงเดือนตุลาคมที่ยอดการส่งออกได้กลับมาหดตัวในอัตราสูงอีกครั้งถึง -67.87% สะท้อนถึงความต้องการสินค้าในตลาดที่ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน และส่อว่าสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้คาดจะทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไทยไปยังรัสเซียในปี พ.ศ. 2565 หดตัวลงประมาณ -40%