ข้อมูลสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุ ประเทศไทยมีการบริโภคเหล็กเฉลี่ยปีละ 19 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 500,000 ล้านบาท โดยการค้าเหล็กสำเร็จรูปของไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีการนำเข้า 5.89 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 208,485 ล้านบาท โดยครึ่งแรกของปีนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอยู่ที่เพียง 32%
นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมเหล็กของไทยเวลานี้ต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายในหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่ การใช้กำลังผลิตโดยเฉลี่ยยังตํ่า จากยังมีสินค้าเหล็กนำเข้ามาจำนวนมาก โดยเลี่ยงพิกัดภาษีศุลกากรที่ไทยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) และขายในราคาตํ่า
ต่อมาคือการปรับตัวไปสู่กรีนสตีล ใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กได้มีการทำงานในเรื่องนี้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรืออบก.อย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้สมาชิกส่วนใหญ่ได้เตรียมตัวในเรื่องการคำนวณฟุตพริ้นท์ หรืออัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอออกไซด์จากกระบวนการในการแปรรูปเพื่อปรับปรุงแก้ไข
“คาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการแปรรูปของเหล็กที่ผลิตในไทยที่วัดออกมาจริงๆ แล้วก็ไม่เยอะมากและอยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงได้ ซึ่งการจะปรับปรุงไม่ได้อยู่ที่เราอย่างเดียว เพราะโรงงานหลายโรงใช้ไฟฟ้าในการผลิต ก็อยู่ที่ภาครัฐด้วย เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ถ้ายังผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซหรือนํ้ามันเป็นเชื้อเพลิง อย่างไรก็ต้องมีคาร์บอนที่มาจากการเผาผลาญพลังงาน ทั้งนี้เราพร้อมปรับแต่ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐไปพร้อมกัน”
ส่วนที่สหภาพยุโรป (อียู) จะเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าเป็น 1 ใน 7 สินค้านำร่อง ซึ่งยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยผู้นำเข้าสินค้าจะเป็นผู้รายงานข้อมูลจากผู้ผลิตถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้า ก่อนบังคับใช้มาตรการเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 ในเรื่อง CBAM นี้ทางกลุ่มฯได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนจากอียูเพื่อประสานการทำงานให้เข้าใจตรงกันแล้ว
“ท่านรองประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. (นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์) ได้ให้คำแนะนำว่าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับเหล็กนำเข้าและอยู่รอดในระยะยาว ส่วนหนึ่งอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศควรปรับตัวเชิงโครงสร้าง เช่น การควบรวมกิจการเพื่อให้โตขึ้นและช่วยลดต้นทุน ถือเป็นแนวทางออกหนึ่งที่ดี ที่หลายค่ายอาจนำไปพิจารณาจากที่เวลานี้หลายค่ายก็มีการควบรวมแล้วทั้งจากค่ายญี่ปุ่นและค่ายไทย”