“PJ US GROUP” ดันซอสไทยผงาด ยึดตลาดเรือนจำมะกัน

30 พ.ค. 2567 | 05:12 น.
อัพเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2567 | 05:39 น.

สหรัฐอเมริกา ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และมีความสำคัญต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นตลาดที่หอมหวน

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐ 5.9 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% ท่ามกลางสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีนที่ประทุขึ้นระลอกใหม่ ผู้ประกอบการของไทยต้องเผชิญกับปัญหาอะไร และยังมีโอกาสอย่างไรบ้างในตลาดสหรัฐ

นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJ US GROUP ผู้จัดหา และนำเข้าสินค้าไทยป้อนให้กับตัวแทนจำหน่าย ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และเรือนจำในสหรัฐ และในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” เพื่อฉายภาพให้เห็นกันชัด ๆ

ประมุข เจิดพงศาธร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท PJ US GROUP

เทรดวอร์ดันค่าระวางเรือพุ่ง

นายประมุข กล่าวว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ในรอบใหม่นี้มีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าจีนเร่งส่งออกไปสหรัฐก่อนการขึ้นภาษีสินค้าจีนในระลอกใหม่อีก 25-100% ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ และอื่น ๆ จะมีผลบังคับใช้ ส่งผลให้เวลานี้ผู้ส่งออกสินค้าจีน มีความต้องการระวางเรือเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐ ซึ่งหลายประเทศเร่งส่งออกไปสหรัฐ เช่น เวียดนาม ผสมโรงกับราคานํ้ามันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของสายเดินเรือยังผันผวนปรับตัวขึ้น-ลงตลอดเวลา

จากปัจจัยหลักดังกล่าวส่งผลให้สายเดินเรือได้ประกาศปรับขึ้นค่าระวางเรือในเส้นทางอเมริกาอีก 100-150% จากก่อนหน้านี้เคยลงไปตํ่าระดับ 1,200-1,500 ดอลลาร์สหรัฐ เวลานี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ (20ฟุต) ประเมินแล้วมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6,000 ดอลลาร์ 8,000 ดอลลาร์ ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในอนาคต หากความต้องการตู้สินค้าและระวางเรือยังมีจำนวนมาก และสงครามจากความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์หลายคู่ยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้ราคานํ้ามันโลกซึ่งเป็นอีกต้นทุนสำคัญของสายเดินเรือปรับตัวสูงขึ้น

“ในส่วนของประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สมมุติว่าเราต้องการเรือที่จะส่งของวันนี้ แต่อีกหนึ่งเดือนถึงจะถึงคิว ต้องรอนาน เขา (สายเดินเรือ) ถามว่าราคานี้จะเอามั้ย ถ้าไม่เอาก็ไม่เป็นไร กระทบผู้ส่งออกและนำเข้าสหรัฐที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อส่งมอบสินค้าให้ตรงเวลา”

“PJ US GROUP” ดันซอสไทยผงาด ยึดตลาดเรือนจำมะกัน

ยึดตลาดซอสเรือนจำมะกัน

ท่ามกลางข่าวร้ายดังกล่าวในส่วนของบริษัทยังมีข่าวดี จากล่าสุด PJ US GROUP ได้ชนะประมูลส่งซอสพริกศรีราชาในแบรนด์ Gourmet Star brand ให้กับเรือนจำในมลรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งแพ็กเกจ รวมสินค้าอีก 3 รายการได้แก่ นํ้าจิ้มไก่ ซอสซีอิ๊ว และซอสพริกกระเทียม โดยมีสัญญา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ถึง 30 เมษายน 2569 คิดเป็นมูลค่า 3-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อสัญญา ซึ่งจากการชนะประมูลครั้งนี้ ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะชนะการประมูลส่งสินค้าดังกล่าวให้กับเรือนจำในมลรัฐเท็กซัสด้วย

“เดิมในตลาดเรือนจำของสหรัฐที่มีอยู่ประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีนักโทษราว 2.5 ล้านคน ในส่วนของซอสพริก มีซอสพริกศรีราชา “ตราไก่” ของบริษัทฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ สัญชาติเวียดนาม ที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นเจ้าตลาดอยู่ รวมถึงยังมีการขายบนแพลตฟอร์มของ Amazon ในช่วงสินค้าขาดตลาด ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือ 7 หมื่นบาทต่อขวด ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินไป เพราะในส่วนของบริษัทสามารถผลิตได้ในราคาที่ย่อมเยากว่ามาก และขายในราคาที่สมเหตุสมผล โดยใช้โรงงานในไทยผลิต”

นายประมุขย้อนรอยที่มาของ “ซอสพริกศรีราชา” ว่า เป็นชื่อซอสพริกที่ผลิตโดยคนไทยเชื้อสายจีนที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ต่อมานักธุรกิจเวียดนามได้นำซอสศรีราชาจากประเทศไทยไปขายให้กับร้านเฝอในสหรัฐ ภายหลังสินค้าติดตลาด จึงได้จัดตั้งบริษัท ฮุ่ยฟง ฟู้ดส์ และตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐ และจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าซอสศรีราชา “ตราไก่” บรรจุภายใต้ฝาสีเขียว ตัวขวดสีแดง โดยใช้พริกเม็กซิกันเป็นวัตถุดิบ

ต่อมาเกิดกรณีโรงงานผลิตพริกที่อยู่แถวเมืองเฟรสโน(ตั้งอยู่ระหว่างซานฟรานซิสโกไปแอลเอ) ว่าพริกที่ผลิตเวลามีลมแรง ทำให้คนในพื้นที่แสบตา แสบจมูก จนเกิดคดีฟ้องร้อง ท้ายสุดส่งผลให้บริษัทขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยไปนำเข้าพริกจากประเทศจีนมาใช้ในการผลิต แต่ปรากฎซอสที่ผลิตได้มีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากสีแดงกลายเป็นสีส้ม และมีรสชาติที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้บริโภคมองว่าเป็นของปลอม ห้างร้านต่าง ๆ ตีกลับสินค้า ทำให้บริษัทต้องเร่งแก้ไขปัญหา และออกประกาศว่าไม่สามารถผลิตซอสศรีราชา “ตราไก่” ได้จนถึงเดือนกันยายนปีนี้

“จุดนี้ทำให้ซอสพริกแบรนด์ Gourmet Star brand ของผมได้เกิดอย่างเต็มตัวในเรื่องซอสพริกศรีราชา ส่วนหนึ่งจากซอสพริกของ บริษัทฮุ่ยฟงฯ ที่ครองตลาดมานานและเป็นแบรนด์เดียวในเรือนจำขาดตลาด เป็นโอกาสของเราในการนำเสนอซอสพริกศรีราชาที่ปัจจุบันคำว่า “Sriracha Sauce” เป็นชื่อสากลของสินค้าในกลุ่มซอสในสหรัฐที่ขายกันหลากหลายยี่ห้อ ไม่สามารถอ้างความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งผมจะใช้จังหวะนี้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายในสหรัฐเข้าใจว่า ซอสพริกนี้มีต้นกำเนิดจากประเทศไทย” นายประมุข กล่าว