"เกษตรกร" ผวา นายกฯ -ปรับครม. ห่วงกระทบนโยบายช่วยเหลือนับหนึ่งใหม่

15 ส.ค. 2567 | 09:13 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 12:44 น.

เกษตรกร รอลุ้นนายกฯ - ปรับครม. ใหม่ ห่วงกระทบนโยบายช่วยเหลือนับหนึ่งใหม่ แนะนายกรัฐมนตรีคนกลาง กู้เศรษฐกิจ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนชั่วคราว เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งใหม่

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) จากกรณีเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ส่งผลให้วาระการดำรงตำแหน่งของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงที่ 358 วัน นับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 22 ส.ค. 2566

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกตกใจ ในตอนแรกคิดว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขาดคุณสมบัติ ไม่ให้ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป จะโดนเพียงคนเดียว คาดไม่ถึงจะทำให้ทั้งคณะรัฐมนตรีกลายเป็นรักษาการ ต้องรอดูว่าพรรคไหนจะได้มาบริหารต่อไป

“ยอมรับว่ารู้สึกช็อก เพราะที่ผ่านมาได้มีนโยบายต่างๆ ออกมาช่วยเหลือชาวนา กำลังจะไปด้วยดี  ไม่ว่าจะเป็นโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง งบ 2.9 หมื่นล้านบาท ผ่านมติ ครม.มาแล้ว ก็เหลืออยู่ในระหว่างการทบทวนโครงการที่จะใช้ในนาปรังปี 2568  ก็ต้องรอลุ้นว่าจะได้รัฐมนตรีคนใหม่ หรือคนเดิม เข้ามาบริหารต่อ และหากเป็นรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาดูแล ก็ยังไม่ทราบว่าจะยังคงมีนโยบายอย่างไร เป็นเรื่องที่คาดเดายาก ซึ่งในขณะนี้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต เช่นเดียวกับเงินดิจิทัล คงไม่ได้แล้ว ก็คงต้องรอดูกันในวันพรุ่งนี้ใครจะมาบริหารงานนโยบายรัฐบาลต่อไป”

เช่นเดียวกับนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่โดนยกชุด นึกว่าจะแค่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องคาดไม่ถึง ดังนั้นหากเป็นอย่างนี้เชื่อว่าจะต้องมีการฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ถ้าเป็นต่างพรรคตัวรัฐมนตรีอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่หมดตามโควตาพรรคที่ได้ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่เสนอในช่วงหาเสียงจะต้องปรับมาใช้ เป็นไปได้ยากที่จะนำนโยบายต่างพรรคมาดำเนินงานต่อแม้ว่าบางโครงการผ่านคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปแล้วก็ตาม 

\"เกษตรกร\" ผวา นายกฯ -ปรับครม. ห่วงกระทบนโยบายช่วยเหลือนับหนึ่งใหม่

“จากการตัดสินอย่างนี้มองว่าอาจจะมีรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อรอที่จะยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่หรือไม่ เพราะในตอนแรกคาดว่าจะโดนแค่นายกรัฐมนตรี แล้วให้นายภูมิธรรม รักษาการ ก็ยังเดินไปได้ จนกว่าจะรวบรวมตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ถอดบทเรียนจาก นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีกิตติคุณผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตรองประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ได้เป็นผู้นำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นนายกฯ อีกสมัย เพราะกระแสสังคมขณะนั้นที่กดดันไม่ต้องการให้ทหารเข้ามามีอำนาจ ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งจะออกมารูปแบบนั้นหรือไม่”


นายมนัส กล่าวว่า ก็ต้องรอดูว่าแกนนำในการจัดตั้งพรรค ยังเป็นพรรคเดิมหรือไม่ จะใช้พรรคเพื่อไทยอีกหรือไม่ แล้วถ้าใช้พรรคเดิมจะขาดความชอบธรรมหรือไม่ จะต้องสลับขั้วให้พรรคอื่นขึ้นมาแทนไหม
 

ด้าน นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาในการบริหารภายใต้การนำของรัฐบาล ไม่ได้ฟังเสียงเกษตรกรเลย  ในเรื่องการผลิต การแปรรูป สินค้าตลาดเกษตรล่วงหน้าครบวงจร แทบจะไม่มีนโยบายอะไรมาเลย ส่วนเรื่องปุ๋ยคนละครึ่ง นโยบายทำเพื่อนักธุรกิจ นายทุน ค้าปุ๋ย ไม่ได้คิดถึงว่าเกษตรกรจะได้อะไร ดังนั้นที่ผ่านมามีบางกลุ่มที่เป็นเกษตรกรในหลายจังหวัด ที่เป็นนิติบุคคลทำไมถึงกลับไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการเลย ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นข้อดี และไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากโครงการนี้ความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดช่องการทุจริต อาจจะเป็นคดีความในอนาคตได้ ฟันธงได้เลยว่า โครงการนี้ไม่น่าจะเกิดแล้ว ถ้ามีการฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหาร 

\"เกษตรกร\" ผวา นายกฯ -ปรับครม. ห่วงกระทบนโยบายช่วยเหลือนับหนึ่งใหม่

“เช่นเดียวกับส.ป.ก. เปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01. เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ก็แค่เปลี่ยนชื่อ ส่วนสถานะก็เหมือนเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน ที่ผ่านมาจึงไม่ให้คะแนน ดังนั้นอยากให้พรรคที่เข้ามาจะฟอร์มทีมเข้ามาฟังเสียงเกษตรกรตัวจริงบ้างว่าอยากได้อะไร” นายอุบลศักดิ์ กล่าวย้ำในตอนท้าย

อุทัย สอนหลักทรัพย์

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)  กล่าวว่า ห่วงพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกล จะมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย ขั้วการเมืองจะเปลี่ยนทันที เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคเชื่อว่ามีการคุยกันอาจจะข้ามขั้วไปเลยก็ได้ ส่วนการบริหารยางพาราทั้งระบบ ต้องให้คะแนนเต็มหรือเกินร้อยคะแนนกับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันอยู่ในสถานะรักษาการ เป็นผู้บริหารที่ทำให้ราคาพาราปรับราคาสูงขึ้น

"ถึงแม้ในช่วงนี้ราคาจะปรับตัวลงมาบ้างเล็กน้อยแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ราคาดี เกษตรกรมีความพึงพอใจ ต้องพูดกันตามตรง ซึ่งต่อไปหากมีรัฐมนตรีเกษตรฯ มาใหม่ ประเมินทิศทางราคายางพาราคงไม่ปรับราคาลงมาน่าจะอยู่ในระดับกิโลกรัมละ 60 บาทขึ้นไป  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือพื้นที่ในแอฟริกา ที่จีนไปลงทุนปลูกก็เป็นห่วงว่าจะมาทำตลาดสู้กับเราในอนาคต ปัจจุบันยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็จะเข้ามาแทนที่ยางธรรมชาติ"

นอกจากนี้ทางสมาคม ได้มีมติ  ขอเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้   ข้อดังนี้ 

1. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รีบเปลี่ยนพันธุ์ยางที่เกษตรกรชาวสวนยางจะปลูกแทนหรือปลูกใหม่ ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยยึดพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนลดลงได้ เพราะพันธุ์ยางใหม่ๆที่วิจัยโดยสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย มีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ยางที่ชาวสวนยางปลูกไปแล้วถึงเท่าตัวซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำเทียบเคียงกับประเทศอื่นได้ 

\"เกษตรกร\" ผวา นายกฯ -ปรับครม. ห่วงกระทบนโยบายช่วยเหลือนับหนึ่งใหม่
2. รัฐบาลสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่นปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาถูก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงได้ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการปุ๋ยคนละครึ่งกับการปลูกข้าวแล้ว ก็ให้นำมาใช้กับชาวสวนยาง เช่น  “ทีฟอนพลัสฮอร์โมน”  ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรยังไม่ต่อใบอนุญาตให้ จึงทำให้เกษตรกรทั้งประเทศไม่สามารถใช้ ดังนั้นก็ขอให้ กยท. นำเข้าและซื้อมาแจกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ก็จะทำให้เกษตรกร มีสารที่ไม่มีอันตรายต่อต้นยางถ้าใช้ถูกวิธีโดยสนองตอบต่อยางRRIM600 ก็จะให้น้ำยางเพิ่มเท่าตัวเป็นการแก้ปัญหาได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นายอุทัย กล่าวอีกว่า ทางออกการเมืองในขณะนี้ น่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนกลางขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ และยอมรับถึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้  เพราะแต่ละพรรคปัจจุบันมีภูมิหลังที่ไม่ค่อยดี ทำให้ต่างประเทศหมดความเชื่อถือ