ศึกชิงผู้นำสหรัฐ“ทรัมป์” การค้าสายแข็งสะเทือนไทย “แฮร์ริส”ประนีประนอม

16 ส.ค. 2567 | 03:02 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 04:19 น.

ศึกเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กับกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พ .ย. 2567 ซึ่งเวลานี้ทั้งสองฝ่ายได้เปิดเวทีหาเสียงกันอย่างดุเดือด เพื่อกรุยทางสู่เส้นชัย

ในมุมมองของผู้นำภาคเอกชน หากทรัมป์ หรือแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง จะมีผลต่อประเทศไทยทั้งด้านบวก-ด้านลบ ต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ของไทยอย่างไร และไทยต้องเตรียมตั้งรับอย่างไรบ้าง ฟังมุมมองจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้าไทย ได้ประเมินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกเป็น 2 ฉากทัศน์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

  • ฉากทัศน์ที่ 1 กรณีผลการเลือกตั้งออกมา โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ (ทรัมป์ 2)

จะมีผลในหลายด้าน ได้แก่ อเมริกาจะหันไปฟื้นฟูและพึ่งพาตนเอง(America First), ผู้นำของประเทศทางยุโรปหลายคนออกมาแถลงความเป็นห่วงว่า เอกภาพระหว่างสหรัฐกับสมาชิกนาโต้จะเปลี่ยนไปในทางลบ การสนับสนุนทรัพยากรการเงินและอาวุธเพื่อรักษาอธิปไตยของยูเครนจะสิ้นสุดลง นำสู่ความเปราะบางในภูมิภาคยุโรป

ขณะที่บางกลุ่มมองว่ารัฐบาลทรัมป์ 2 จะเปลี่ยนโจทย์การเมืองโลก ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์กำลังร้อนมากและยังไม่มีทางออกที่แน่ชัด นำมาซึ่งความกังวลต่อผลกระทบในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะราคาและปริมาณนํ้ามันดิบ การขนส่งทางเรือในมหาสมุทรผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซจะหยุดชะงัก เนื่องจากการก่อการร้ายหรือไม่ หรืออาจนำมาสู่การขึ้นราคาค่าบริการตู้คอนเทนเนอร์จากตู้ละ 2,000 กว่าดอลลาร์เป็น 20,000 ดอลลาร์อย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคโควิด

ทั้งนี้เมื่อสินค้ามีค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เดือดร้อนทั้งผู้บริโภคและผู้นำเข้า และจะส่งผลกระทบมาถึงการผลิตในไทย การส่งออกจะลดลง

ศึกชิงผู้นำสหรัฐ“ทรัมป์” การค้าสายแข็งสะเทือนไทย “แฮร์ริส”ประนีประนอม

จับตาขึ้นภาษีสินค้าทั่วโลก

นโยบายการค้าสายแข็ง (Protectionism) ของโดนัลด์ ทรัมป์ หากเกิดมาตรการกำแพงภาษีจริง โดยสหรัฐเก็บภาษีนำเข้า 10% จากทุกประเทศทั่วโลก และจีนถูกเก็บภาษีประมาณ 60% ก็จะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่และไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งกำแพงภาษีเป็นสิ่งที่ทั่วโลกไม่อยากให้เกิดขึ้นและได้หาทางลดและกำจัดโดยผ่านการเจรจาและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เนื่องจากกำแพงภาษีทำให้ราคาสินค้าที่ชาวอเมริกันต้องจ่ายสูงขึ้น การนำเข้าจะลดลงโดยอัตโนมัติ ยอดการซื้อจากไทยจะน้อยลง สะเทือนการส่งออกไปสหรัฐ ขณะที่เราวางแผนจะเพิ่มปริมาณและรายได้จากการส่งออก”

ขณะเดียวกันกำแพงภาษี 60% ต่อสินค้าจีน จะทำให้จีนต้องหาตลาดระบายสินค้า เนื่องจากจีนไม่มีนโยบายปรับลดการผลิต เมื่อสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักออกมาและเข้าตลาดไทย ระยะแรกผู้บริโภคอาจดีใจที่สินค้ามีให้เลือกมากมายในราคาที่ถูก แต่จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทย เนื่องจากจะไม่สามารถรับคลื่นใหญ่จากจีน

“แฮร์ริส”โอกาสไทยหลายด้าน

ฉากทัศน์ที่ 2 กรณีกมลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง

มองว่า รัฐบาลแฮร์ริสจะมีนโยบายเศรษฐกิจการเมืองและความมั่นคงสืบต่อจากยุคไบเดน อย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งปีแรก และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เพื่อความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งนี้แฮร์ริสได้ยํ้าถึงความสำคัญของการค้าและความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และยังให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสะอาด อาจเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าร่วมในโครงการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อาจเป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในไทย

 “กระแสการเลือกตั้งในสหรัฐพลิกผันได้เสมอ ไม่มีใครรู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งจริง แต่สิ่งที่เราต้องยึดมั่นคือ ไทยกับสหรัฐต้องเป็นพันธมิตรต่อกัน ไม่ว่าเงื่อนไขจะเปลี่ยนไปทางด้านสหรัฐหรือการเมืองไทยของเราเอง ซึ่งไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร ไทยเรามั่นใจว่าจะสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้สหรัฐเป็นตลาดและเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งต่อไป” นายสนั่น กล่าว