เมื่อพูดถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าใจเกมการท้าทายในระดับนานาชาติที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง
แม้ว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะล่าสุด การโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิหร่านต่ออิสราเอล สร้างความตึงเครียดในตะวันออกกลางจนมีความกังวลว่าจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ
แต่แท้จริงแล้วความเข้าใจในกลยุทธ์การควบคุมความรุนแรงอยู่ในมือของผู้นำแต่ละประเทศ หากพวกเลือกที่จะใช้ความรุนแรงในระดับที่ไม่เกินควบคุม เช่น กรณีอิหร่านยิงขีปนาวุธมากกว่า 200 ลูกเข้าไปยังกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอล โดยรู้อยู่เเล้วว่าจะต้องถูกสกัดด้วยระบบป้องกันอากาศยานของอิสราเอล แต่อิหร่านก็ยังคงทำเช่นนั้น
เพื่อแสดงท่าทีเชิงสัญลักษณ์ต่อพันธมิตรในตะวันออกกลาง เช่น ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและฮามาสในปาเลสไตน์ แม้ว่าอิหร่านจะรู้ว่าการโจมตีดังกล่าวอาจถูกสกัด แต่ก็ยังดำเนินการเพื่อรักษาภาพลักษณ์และความเป็นพันธมิตรในกลุ่มประเทศอาหรับ การท้าทายระหว่างอิหร่านและอิสราเอลจึงถูกควบคุมให้รุนแรงแค่ในระดับที่จำกัดได้เพื่อหลีกเลี่ยงการยกระดับเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
การดำเนินการของผู้นำประเทศจึงเป็นเหมือนเกมหมากรุก ไม่มีใครที่จะชนะโดยสมบูรณ์ในสงครามครั้งนี้ เพราะทุกประเทศรู้ดีว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นทางออกที่เลวร้ายที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องการหลีกเลี่ยง การควบคุมความรุนแรงนี้ จึงทำให้ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นอยู่ แต่ไม่ถึงขั้นที่จะนำไปสู่สงครามโลก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ชาวโลกกำลังเป็นกังวลมากที่สุดคือ การตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ที่ประกาศว่าจะบุกเข้าไปยังเลบานอนด้วยกำลังภาคพื้นดิน หากสิ่งนี้เกิดขึ้น ผลเสียหายอาจจะมหาศาลมากกว่าการยิงขีปนาวุธกลางอากาศที่ถูกสกัดกั้นได้ เพราะการรบด้วยภาคพื้นดิน หมายถึงความเสียหายที่เห็นได้ชัด ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำหลายประเทศไม่สามารถรับได้
นอกจากนี้ การที่เนทันยาฮูอยู่ในตำแหน่งมายาวนานแม้จะมีข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ทำให้มีคำถามตามมาว่า การดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อกลุ่มฮามาสและฮิซบอลเลาะห์นั้น อาจเป็นเพียงวิธีการรักษาตำแหน่งของเขาเอง โดยการสร้างศัตรูภายนอกเพื่อประคองอำนาจ
ในขณะที่สงครามไม่เคยจบลงด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว "การเจรจา" จึงยังคงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการยุติความขัดแย้ง ซึ่งกลไกของสหประชาชาติก็ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่ข้อจำกัดของโครงสร้างองค์กรทำให้การจัดการความขัดแย้งในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
สำหรับประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ เน้นย้ำว่าการวางท่าทีในระดับสากลนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ท่าทีที่ไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดชัดเจนทำให้ไทยสามารถรักษาสถานะที่ดีในเวทีโลก กระทรวงการต่างประเทศของไทยก็มีความชำนาญในการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดี
สุดท้ายแม้สถานการณ์ทั่วโลกยังเต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ผู้นำทุกประเทศยังคงรู้ดีว่าการท้าทายที่เกินขีดจำกัดจะนำมาซึ่งความหายนะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้