ส่องนโยบาย ปธน.เม็กซิโก คนใหม่ กาง 5 โอกาส เจรจาการค้า-ดึงดูดการลงทุน

21 ต.ค. 2567 | 23:30 น.

สนง.ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ชวนส่องนโยบายประธานาธิบดีคนที่ 66 ของเม็กซิโก เร่งเจรจาทบทวนตกลงการค้าเสรี USMCA ส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิพิเศษทางภาษี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุง เม็กซิโก กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า หลังจากมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 66 ของเม็กซิโก ซึ่งประธานาธิบดีคลอเดีย เชนบาม ชนะการเลือกตั้ง สำหรับทิศทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศของเม็กซิโก จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรการค้าที่สำคัญ ดึงการลงทุนเข้ามาเพื่อตั้งฐานการผลิตในประเทศ และส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน 

สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ แบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

1. การเจรจาทบทวนตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก–แคนาดา (USMCA) ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอมเริกา เม็กซิโก และแคนาดา หรือ The United States of America – Mexico – Canada Agreement : (USMCA) มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2020 และมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน การใช้ทรัพยากรในประเทศภาคี เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในถูมิภาค โดยประเทศภาคีทั้ง 3 ประเทศ มีกำหนดเจรจาทบทวนความตกลง USMCA อีกครั้งในปี 2026 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาในการหาเสียงประธานาธิบดีเชนบาม ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความตกลง USMCA ที่เป็นหนึ่งในเสาหลักในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจเม็กซิโก ดังนั้น รัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับการเจรจาทบทวนความตกลง USMCA ที่กำลังจะมาถึง โดยจะมีข้อเสนอให้มีการทบทวนและปรับปรุงความตกลงฯ ในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เม็กซิโกได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้มากขึ้น 

2. นโยบายการส่งเสริม Nearshoring เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยบริษัทผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตสินค้าและบริการของตนไปอยู่ในประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้กับตลาดเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง โดยรัฐบาลประกาศการพัฒนา “Poles for Wellbeing” หรือ การกำหนดพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่จะดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายฐานการผลิตมายังเม็กซิโก โดยมีการให้สิทธิพิเศษทางภาษี การปรับปรุงกฎระเบียบ/ข้อบังคับให้เป็นง่ายต่อการทำธุรกิจและการอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนมากขึ้น 

รวมถึงการพัฒนาระบบสาธานณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น คอคอดระหว่างมหาสมุทรที่เทฮวนเตเปค (Interoceanic Corridor of the Tehuantepec Isthmus) ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก

อีกทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่ซาลีน่า ครูซ และโคอัตซาโคลคอส ซึ่งมีเป้าหมายในการทำให้เม็กซิโกเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ระดับนานาชาติ การสนับสนุน Nearshoing ดังกล่าวมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาคมากขึ้น

3. นโยบายด้านนวัตกรรมและการพัฒนา ประธานาธิบดีเชนบาม ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานของเม็กซิโกไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืน โดยนโยบายนี้นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและแก้ปัญหาด้านมลพิษของเม็กซิโกแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านพลังงานให้ยั่งยืนและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาโปรแกรมการศึกษาและการฝึกอบรมที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคการผลิต โดยมีการสร้างพันธมิตรกับศูนย์วิจัยและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อผลักดันโครงการวิจัยประยุกต์ในสาขาเฉพาะ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้น

4. รับฟังความเห็นจากภาคเอกชน ประธานาธิบดีเชนบาม ได้พบปะกับหอการค้าหลายแห่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน โดยได้ให้คำมั่นถึงความโปร่งใสและการร่วมมือในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาหารือ ได้แก่ นโยบายภาษีศุลกากร การอำนวยความสะดวกในการค้า และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศ ทางด้านสภาธุรกิจเม็กซิโกเพื่อการค้าต่างประเทศ การลงทุน และเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้า เช่น การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือ สนามบิน และการขนส่งทางบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งสินค้า

5. การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่สำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ ประธานาธิบดีเชนบาม ได้แต่งตั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ เข้ารับตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรี เช่น

  • มาร์เซโล เอบราร์ด: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกา 
  • จูลิโอ เบอร์เดเก: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานโยบายด้านการเกษตร และมีจุดยืนต่อประเด็นข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในกลุ่ม USMCA 
  • โรเจลิโอ รามิเรซ เดอ ลา โอ: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดก่อน เพื่อรักษาความมั่นคงทางนโยบายการคลัง 
  • ฮวน ราโมน เดอ ลา ฟูเอนเต: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีประสบการณ์ในการทูตระหว่างประเทศมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าระหว่างประเทศภายใต้การดูแลของประธานาธิบดีเชนบาม สะท้อนถึงแนวทางใหม่ในการนำพาเม็กซิโกไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรการค้าสำคัญ โดยเฉพาะการทบทวนความตกลง USMCA ที่จะสามารถเพิ่มโอกาสให้เม็กซิโกได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริม Nearshoring ในเม็กซิโก เป็นการใช้ข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งของเม็กซิโกที่อยู่ใกล้กับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติในการย้ายฐานการผลิตมาในเม็กซิโก

นอกจากนี้ เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูงดังกล่าว แทนการพึ่งพาฐานการผลิตที่อยู่ห่างไกล รวมทั้งนโนบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ การส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน ล้วนเป็นนโยบายที่เน้นการดึงจุดแข็งของเม็กซิโกมาใช้ประโยชน์ให้เต็มศักยภาพมากขึ้น ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนที่เชื่อมั่นว่านโยบายเหล่านี้ จะช่วยให้เม็กซิโกมีความพร้อมกับความท้าทายในยุคปัจจุบันและเติบโตไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับข้อมูการค้าระหว่าวไทยกับเม็กซิโก ปี 2566 พบว่า เม็กซิโกเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกาฯ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 4,626.47 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 11.13% ประกอบด้วยมูลค่าการส่งออกของไทยไปเม็กซิโก มูลค่า 3,589.29 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าของไทยจากเม็กซิโก มูลค่า 1,077.18 ล้านดอลลาร์ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า มูลค่า 2,552.11 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ สินค้าส่งออกของไทยไปเม็กซิโก ได้แก่ 

  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 
  • เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 
  • หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล

ส่วนสินค้านำเข้าของไทยจากเม็กซิโก ได้แก่ 

  • เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 
  • ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 
  • เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน