ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ (26 ก.ย. 2567)ช่วงเสวนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว วิทยากรจากภาคธุกิจเอกชน และสถาบันการเงินของภาครัฐ ได้ฉายภาพการขับเคลื่อนธุกิจสีเขียวจากอดีต ปัจจุบัน และมุ่งสู่อนาคตไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
นายธันยวีร์ พงษ์วัฒนาสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจเอทานอล บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลนอกจากทำธุรกิจน้ำตาลแล้ว ยังได้ผลักดันธุรกิจด้านพลังงานด้วย ซึ่งโดยศักยภาพของประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนจากภาคเกษตรได้อีกมาก จากไทยมีจุดแข็งด้านพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรเกือบ 50% ของพื้นที่ทั้งประเทศ
สำหรับพืชเกษตรที่สามารถนำมาต่อยอดผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ ได้แก่ อ้อยสัดส่วน 56% ข้าว 20% , มันสำปะหลัง 18%, ข้าวโพด ไม้ยางพารา สับปะรด และน้ำมันปาล์ม รวมกัน สัดส่วนอีก 6% ทั้งนี้จากปริมาณอ้อยที่มีมากสามารถนำมาทำพลังงานหมุนเวียนได้ จากจุดแข็งดังกล่าวทางกลุ่มมิตรผลได้นำมาต่อยอดธุรกิจทางด้านพลังงาน แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก เป็นเรื่องของพลังงานงานด้านไฟฟ้า และส่วนที่สอง เป็นพลังงานเกี่ยวกับภาคการขนส่ง ซึ่งทางกลุ่มได้ใช้ประโยชน์จากอ้อยอย่างคุ้มค่า โดยนอกจากนำอ้อยมาผลิตน้ำตาลแล้ว กากชานอ้อยที่เหลือได้นำเข้าสู่ไบโอแมส โดยนำชานอ้อยมาผลิตไอน้ำ และนำไอน้ำไปปั่นไฟฟ้าเป็นพลังงานสีเขียว
ส่วนที่สอง พลังงานภาคขนส่ง ได้เข้าสู่ธุรกิจเอทานอล ที่นำไปผสมในน้ำมันเบนซินที่เรียกว่าแก๊สโซฮอล์ เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 และ E20 สามารถช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้าน้ำมัน และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลได้
“ถัดมาเป็นเรื่องของการลด CO2 ถามว่าตรงนี้เราเกี่ยวข้องอย่างไร ทำไมพลังงานจากการเกษตรถึงจะมีบทบาทในการลดโลกร้อน ถ้าดูตัวเลข น้ำมันเบนซินต่อลิตรปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 3 กิโลกรัมคาร์บอน(kgCO2eg/L)โดยประมาณ แต่เอทานอลในปริมาณ 1 ลิตรเท่ากันปล่อยแค่ 0.7 จะเห็นได้ว่าเราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานที่สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้”
นอกจากนี้วัสดุ หรือสิ่งเหลือใช้ภาคการเกษตรยังสามารถนำไปเป็นพลังงานทดแทนที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยลดการเผา และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตัวอย่างใบอ้อย ที่ทางกลุ่มมิตรผล ที่ผ่านมาได้รับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรปริมาณ 1.7 ล้านตัน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานทดแทน ซึ่งในภาพรวมอ้อยทั่วประเทศสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในส่วนนี้ได้ถึง 7,200 ล้านบาทต่อปี (รับซื้อ 900 บาท/ ตันใบอ้อย) ขณะที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบกว่า 16,000 ล้านบาทต่อปี
นายเคนร์ ชัยชนะวงศ์ กรรมการผู้จัดการ VCON GROUP ในกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องมีการก่อสร้างโรงงาน ธนาคารก็ต้องมีอาคารสำนักงาน บ้านอยู่อาศัยก็ต้องก่อสร้าง ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ปัจจุบันการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก จะเกิดจากใช้อาคาร 28% จากวัสดุก่อสร้างที่นำมาก่อสร้างอาคาร 11% ภาคอุตสาหกรรม 30% การขนส่ง 22% และอื่น ๆ อีก 9%
“ในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะเริ่มตั้งแต่การนำวัตถุดิบมาใช้ ตั้งแต่อิฐ หิน ปูน ทราย และนำวัตถุดิบเหล่านั้นไปส่งที่โรงงานผลิต จากโรงงานผลิตไปไซต์ก่อสร้างและทำการก่อสร้าง ซึ่งส่วนนี้ปล่อยคาร์บอนมากถึง 11% ส่วนการใช้อาคาร เช่นการใช้นำ ไฟฟ้าปล่อยคาร์บอนถึง 28% เมื่อถึงเวลาที่ตึกจะต้องถูกปิด ต้องถูกทำลายลงก็จะเกิดของเสียต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้”
ขณะที่วัสดุในการก่อสร้าง คอนกรีตเป็นตัวที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดมากถึง 8% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด รองลงมาจะเป็นเหล็กที่ 7% ซึ่งทางบริษัทมีระบบและนวัตกรรมใหม่มาช่วยลดฝุ่น PM2.5 และลดการใช้เหล็กและปูนลงได้ อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง หากเทียบกับ 4-5 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าและคนในวงการก่อสร้างได้มีความตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
เฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย เช่น โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) พยายามมาหาวัสดุก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดและตอบโจทย์ในเรื่อง Go Green ด้วย
ขณะที่ ดร.ณัฐกร ไกรกุล ผู้จัดการฝ่าย (Vice President) Decarbonization Center of Excellence บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจอยู่ในช่วงของความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ปัจจุบันต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วย
“เรื่องภาวะโลกร้อนหรือภาวะโลกเดือดมากระทบไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ชีวิต แต่ยังกระทบถึงเศรษฐกิจ และบริบทขององค์กรก็จะถูกกระทบด้วย เราจะเห็นนโยบายใหม่ ๆ ดีมานด์ใหม่ ๆ จะเห็นเรื่องการทำธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าอุตสาหกรรมไม่ปรับตัว อนาคตก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้”
ภายใต้ความท้าทายนี้ พีทีที โกลบอลฯ ได้มองเห็นโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆ โอกาสในการเข้าไปบริหารจัดการซัพพลายเชน โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อหาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ให้สอดรับกับทิศทางของโลก และตอบโจทย์ฟุตปริ้นท์ในการดำเนินธุรกิจ ที่ลดลงเรื่อย ๆ โดยในการวางแผนธุรกิจ ไม่ได้มองแค่เรื่องผลกำไรแต่ยังมองเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปด้วย
รวมถึงมองโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ ที่เรียกว่า "ไฮ แวลู โลว์คาร์บอน" ควบคู่ไปด้วย ดังนั้นธุรกิจของพีทีที โกลบอลฯ ที่ลงทุนในเวลานี้ได้ขยายสู่ธุรกิจที่เรียกว่าไฮแวลู โลว์คาร์บอน ที่มีกำไรสูงกว่าธุรกิจปิโตรเคมี
ขณะที่ นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีมีความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวแบบเปราะบาง กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ มีต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และมีความท้าทายในเรื่องกฎกติกาทางการค้า ซึ่งจะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาส และจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีทั้งมีผู้บริโภคที่ยอมจ่ายแพงเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าและบริการรักษ์โลก
ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่มองหาสิ่งของที่ราคาถูก มีคุณภาพที่ดีระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องสังคมสูงวัย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการขาดแคลนแรงงาน และกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอย เรื่องของภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก ทำให้ระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ต้องเร่งปรับตัวสู่ความยั่งยืน ทั้งหมดถือเป็นความท้าทายในปัจจุบัน
“ในฐานะที่ SME D bank เป็นสถาบันการเงินของรัฐ และมีการทำงานร่วมกับเอสเอ็มอีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในมุมมองของเอสเอ็มอีในเรื่องโกกรีน และสู่ความยั่งยืน มักมีคำถามว่า จะทำไปทำไม เป็นภาระ ทำไม่ได้ และไม่รู้จะเริ่มทำตรงไหน หรือทำยาก ต้องลงทุนสูงไม่มีเงินทุนจะต้องทำอย่างไรได้บ้าง”
ตรงนี้เป็นเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่ในมุมมองในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินของรัฐเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน มองเป็นหนทางแห่งความอยู่รอด และเป็นงานที่ต้องทำเพื่อลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า ซึ่งจะต้องช่วยในการเติมทักษะ และเครื่องมือให้ผู้ประกอบการ หากไม่มีทุนก็สามารถเติมทุนให้ได้
ขณะที่จากการสำรวจสอบถามเอสเอ็มอีว่า มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด พบว่า มีสัดส่วนเพียง 62% เท่านั้นที่ทราบ และถามอีกว่ามีความเข้าใจแค่ไหน มีเพียง 83% ที่มีความเข้าใจในเบื้องต้น และตระหนักรู้ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และมีการนำแนวความคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมสีเขียว ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ช่วงเริ่มต้น
“ถัดมามีการสอบถามเพิ่มในเรื่องของการการทำธุรกิจตามแนวทาง ESG คือ การกำกับดูแลที่ดี การดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม ผลการสำรวจเอสเอ็มอีมีเพียง 26% ที่มีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเป็นกิจลักษณะ ส่วนที่เหลือก็มีทำบ้างและยังไม่ได้ทำ
ส่วนที่ทำไปแล้วส่วนใหญ่ยังทำในเรื่องง่าย ๆ เช่น เรื่องของการแยกขยะ บำบัดน้ำเสีย ควบคุมการปล่อยมลพิษ หรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นเอง ซึ่งยังมีโอกาสที่เอสเอ็มอีจะสามารถขยับต่อไปได้ ทั้งนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยน Mindset (ทัศนคติ) โดยให้ดูเคสท์ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ”
สำหรับ SME D Bank มีสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3% คงที่ใน 3 ปีแรก ผ่อน 10 ปีไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ยังลดค่าค้ำประกันให้อีกในช่วง 4 ปีแรก เพื่อสนับสนุน Go Green ถือเป็นมาตรการดี ๆ ที่อยากจะโปรโมท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง