เช่นเดียวกับ "ยุคนธร วิเศษโกสิน" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส(ประเทศไทย) จำกัด ที่เข้ารับตำแหน่งนี้มาเกือบ 4 ปีเต็ม โดยสามารถนำพาให้ฟอร์ด ประเทศไทย สามารถสร้างส่วนแบ่งตลาดเติบโตขึ้นมาโดยตลอดจาก 3.8% ขยับขึ้นมาสู่ 4.6% ของอุตสาหกรรมรถยนต์กว่า 7 แสนคัน
หญิงแกร่งมาดคล่องแคล่วคนนี้ คลุกคลีอยู่ในวงการรถยนต์นานกว่า 9 ปี ลุยทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ กับบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์สฯ และยังเคยเป็นผู้ช่วยรองประธานฯ ฝ่ายการตลาดระหว่าง ประเทศ บริษัทไมเนอร์ ฟู๊ด กรุ๊ปฯ รับผิดชอบการขยายธุรกิจของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี ทั้งในและนอกประเทศ และ Account Manager เอเยนซีโฆษณา ลินตาส (ประเทศไทย) จากประสบการณ์ทำให้เธอมีมุมมองที่หลากหลายและแตกต่าง ประกอบกับความเป็นผู้หญิงที่ลงรายละเอียดได้ในหลายๆ เรื่อง ทำให้เธอเห็นความสำคัญของการลงรายละเอียดลึกในขั้นตอนการทำงานมากเป็นพิเศษ
"เดิมฟอร์ดวางรากฐานมาดีอยู่แล้ว ส่วนตัวเองเอง แข็งแกร่งเรื่อง Process กระบวนการทำงานต่างๆ รายละเอียด เรื่องของโอเปอเรชัน เรื่องแผนการปฏิบัติตามแผน (Implement plan) เราเชื่อว่า ต่อให้มีกลยุทธ์ดีแค่ไหนเมื่อถึงเวลาต้องเอากลยุทธ์มาใช้ ไม่รู้ว่าใครต้องไปทำอะไร ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ"
ความฝันส่วนตัวเมื่อเข้ามาทำงานที่ฟอร์ด "ยุคนธร" บอกว่า อย่างแรกเลยคือ อยากสร้างแบรนด์ฟอร์ด ให้ติดท็อป 5 และ 2. คือ อยากให้คนเลิกพูดถึงฟอร์ดในทางที่ไม่ดี เธอยอมรับว่าในขณะนี้ยังเดินหน้าไปได้ไม่ถึงเป้าแต่ทุกๆ ปีที่ผ่านมา เธอสามารถบริหารฟอร์ดให้เติบโต ส่วนแบ่งตลาด 3-4 ปี โตมาเรื่อยๆ ล่าสุด ปิดไปที่ 4.6% แชร์ จากตอนเริ่มต้นที่เข้ามามีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 3.8%
ส่วนเรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์ และการพูดถึงของผู้บริโภค ที่ยังมีติดลบอยู่บ้าง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้นำคนนี้กำลังเร่งแก้ไข จากธรรมชาติของโปรดักต์รถยนต์ ที่ผู้ซื้อต้อง 1.ใช้ประสบการณ์ การมีโอกาสได้ทดลองขับ 2.ต้องเลือกแบรนด์ที่เชื่อถือได้ และ 3.มีบริการหลังการขายที่ถูกใจ กรรมการผู้จัดการหญิงคนนี้ นำ 3 สิ่งที่ของเกณฑ์การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค มาพัฒนาองค์กร พัฒนาทีมงานของเธอ
"ยุคนธร" เลือกนำวัฒนธรรมองค์กรของฟอร์ดมาเสริมความแข็งแกร่ง ฟอร์ดมีแผนงาน One Ford เพื่อสร้าง One Team ให้องค์กรทำงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยวัฒนธรรมองค์กรหลัก คือ 1.Result- oriented driven organization มุ่งเน้นผลลัพธ์สุดท้ายขององค์กรเป็นสำคัญ (One Goal : มีหนึ่งเป้าหมายร่วมกัน) 2.พนักงานต้องสามารถให้ candid comments หรือวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาได้ พูดในสิ่งที่ตัวเองคิดได้ เป็นลักษณะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ขององค์กรที่สามารถสร้างและแสดงออกถึงความเชี่ยวชาญในสายงาน 3. ผู้ที่รับฟังข้อมูลเหล่านี้ต้องมี emotional resilience หรือความฉลาดทางอารมณ์ ต้องรับฟังไดโดยไม่ใส่อารมณ์ คิด วิเคราะห์ถึงสารที่สื่อออกมา โดยไม่ใช้อารมณ์เข้าร่วม
เธอยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้คนทั้งองค์กรสามารถเดินหน้าไปในวัฒนธรรมเดียวกันได้ แต่สิ่งสำคัญ อยู่ที่ผู้นำ ที่ต้องมีความชัดเจน...คนที่จะเป็นผู้นำในองค์กรแบบนี้ ต้องถามคำถามให้ถูก ว่าอยากได้อะไร และต้องรับรู้ว่า เมื่อลูกทีมคนนี้พูดแบบนี้ เขาหมายความแบบนี้จริงๆ หรือไม่ เรียกว่าต้องสามารถอ่านบุคลิกทีมงานออก ต้องเข้าใจทีมงานแต่ละคน ซึ่งขณะนี้คนของฟอร์ด สามารถข้ามผ่านเข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรเดียวกันได้เป็นอย่างดี
อีกสิ่งสำคัญคือดีลเลอร์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบริการสู่ผู้บริโภค ฟอร์ดได้ริเริ่มโครงการ Consumer Experience Movement หรือ CEM ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดที่ว่า หากพนักงานของดีลเลอร์มีความสุขในการทำงาน พวกเขาจะสามารถทำงานได้ดีและจะส่งผลสู่การบริการลูกค้าที่น่าประทับใจ และยังมีโครงการ President Club Award มอบรางวัลให้กับผู้จำหน่ายที่มีผลงานยอดเยี่ยมและทำคะแนนในการบริหารลูกค้าได้สูงสุด ปัจจุบันมีดีลเลอร์เข้าร่วมโครงการแล้ว 30 แห่ง
ด้วยสไตล์การทำงาน ที่เป็นคนลงรายละเอียด "ยุคนธร" จึงต้องการให้ทีมงานของเธอลงรายละเอียดในการทำงานด้วยเช่นกัน เพราะในแนวทางการทำงานของเธอ ไม่ว่าจะพรีเซนต์อะไรให้ผู้บริหารระดับสูงฟัง หรือต้องการนำเสนออะไร เป้าหมายของเธอมีอย่างเดียวคือ ต้องให้ผู้รับฟังยอมรับ โดยทุกสิ่งที่พรีเซนต์ต้องไม่ใช่การพรีเซนต์แบบผิวเผิน ต้องลงรายละเอียด ต้องมีความรู้ลึกรู้จริง เพราะไม่งั้นไม่สามารถทำให้เกิดการพูดคุยถกเถียงที่ลงลึกได้..."ถ้าจะให้สำเร็จ ต้องลงรายละเอียด"...นี่คือความเชื่อมั่นของผู้นำคนนี้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้นำหญิงคนนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คือ การพัฒนาตัวเอง ซึ่งเธอบอกว่า ไม่ใช่แค่เพียงตำแหน่งผู้นำ ที่ต้องพัฒนาและเรียนรู้ตลอดเวลา ในทุกๆ ตำแหน่ง ทุกๆ หน้าที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดการผิดพลาด ต้องพร้อมที่จะลุกขึ้น แล้วเดินต่อ
หัวใจของความสำเร็จ ผู้นำหญิงเก่งคนนี้ สรุปสั้นๆ ง่ายๆ เลยว่า...ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Operational Excellence การปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ แผนงานไม่ว่าจะดีแค่ไหน แต่ถ้าปฏิบัติไม่ได้จริง (Implementation Plan) ก็จะไม่สามารถทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้...สินค้าต้องดี (Deliver product with passion) ต้องมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ (Innovation mind-set) ตลอดเวลา และเลิกเชื่อ เพียงเพราะเป็นสิ่งที่ทำตามๆ กันมา (Always challenge traditional thinking)
เพียงแค่นี้ ทุกอย่างก็จะเดินไปตามเป้าหมายธุรกิจที่ต้องการ
เรื่อง :พัฐกานต์ เชียงน้อย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559