ดร.โอซามา ฟาคีฮา รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตร แห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย หนึ่งในคณะกรรมการจัดการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทําให้เป็นทะเลทราย (UNCCD) ครั้งที่16 หรือ UNCCD COP16 ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (จัดระหว่างวันที่ 2-13 ธ.ค. 2567) กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตของเราทุกคนล้วนต้องพึ่งพาแผ่นดิน เพราะแผ่นดินคือที่มาของน้ำที่เราดื่ม อาหารที่เรากิน หรือแม้แต่อากาศที่เราสูดเข้าปอด แต่ความจริงที่โหดร้ายก็คือ มนุษย์เราต่างพากันทำร้ายและทำลายผืนดินทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง จนเกิดภาวะการเสื่อมโทรมของที่ดิน ซึ่งเป็นวิกฤตเงียบที่คุกคามทุกชีวิตบนโลกใบนี้
ข้อมูลจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (UNCCD) ระบุว่าในปัจจุบัน ราว 40% ของผืนดินทั่วโลกอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนกว่า 3,200 ล้านคน และทุก ๆ วินาทีที่ผ่านไป ก็จะมีผืนดินขนาดกว่า 4 สนามฟุตบอลที่เข้าสู่สภาวะเสื่อมโทรม หรือคิดเป็นการขยายตัวของที่ดินเสื่อมโทรมกว่า 625 ล้านไร่ (100 ล้านเฮกตาร์) ต่อปี
เมื่อมองย้อนไปในอดีต เราจะเห็นว่าผืนแผ่นดินทั่วโลกต้องประสบกับความเสียหายอย่างมหาศาลจากน้ำมือมนุษย์ โดยนับตั้งแต่ยุคกลางในช่วงปี ค.ศ. 1500 โลกของเราได้สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปแล้วกว่า 87% โดยที่กว่า 54% ถูกทำลายไปหลังปี 1900 นอกจากนี้ อัตราการเสื่อมโทรมของที่ดินก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยประเทศไทยก็ไม่พ้นเงื้อมมือของปรากฎการณ์นี้เช่นกัน
เช่นในภาคอีสานของไทย ถึงแม้ว่าที่ดินในประเทศไทยอาจจะไม่แล้งน้ำจนกลายเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่ได้เร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังมีที่ดินจำนวนมากที่อาจเสื่อมโทรมลงไปถึงจุดที่ไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้อีก จนเกิดเป็นภาวะวิกฤตสำหรับภาคการเกษตร
หากพูดกันง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งเราลงมือช้าเท่าไหร่ ปัญหาการเสื่อมโทรมของที่ดินก็จะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลกับทั้งพื้นที่ทำกิน แหล่งน้ำ และสภาพอากาศ จนอาจจะแก้ไขและฟื้นฟูได้ยาก
“ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงเหล่านี้มาพูดเพื่อให้ใครตื่นตระหนก แต่เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกมองข้ามมานานบนเวทีโลก ทั้ง ๆ ที่ผืนดินใต้เท้าเรามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับความเป็นอยู่ของเราทุกคนบนโลกใบนี้ ทาง UNCCD ประมาณการไว้ว่า 75% ของน้ำจืดทั่วโลกมีแหล่งที่มาจากผืนดินที่มีพืชปกคลุม และพืชก็มีบทบาทในการปกป้องหน้าดินกว่า 80% ทั่วโลก หากเราสูญเสียพืชพรรณไป สิ่งที่ตามมาก็คือการสูญเสียทั้งหน้าดินและทรัพยากรน้ำ”
ทั้งนี้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ในผืนดินสามารถช่วยรักษาสภาพอากาศได้ด้วยการดูดซับคาร์บอนและรักษาวัฏจักรการหมุนเวียนของน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ผืนดินที่เสื่อมโทรมไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ งานวิจัยชิ้นสำคัญที่จัดทำโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่าอุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ และกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดิน มีส่วนในการปล่อยมลภาวะสู่อากาศมากถึง 23% ขณะที่พื้นดินทั่วโลกสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 29% ของปริมาณทั้งหมดที่มนุษย์ปล่อยออกมา
ดังนั้น การทำลายผืนดินจึงทำให้เรามีมลภาวะที่เพิ่มขึ้น ขาดเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และนำไปสู่ภัยพิบัติอื่นๆ อีกมากมาย นับตั้งแต่ผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลง ไปจนถึงการขาดแคลนอาหารและความอดอยาก
อีกหนึ่งผลกระทบที่จะตามมาจากที่ดินที่เสื่อมโทรมก็คือภัยแล้ง เนื่องจากชั้นดินที่เสื่อมโทรมไม่สามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้ จึงทำให้ปลูกพืชผักต่างๆ ได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่พื้นที่นั้นจะต้องประสบภัยแล้งในที่สุด ปัจจุบันประชากรกว่าหนึ่งในสี่ของโลกต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้อยู่แล้ว และหากเราไม่เร่งลงมือแก้ไขปัญหานี้ ภายในปี 2050 จะมีคนอีกกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลกที่ต้องใช้ชีวิตโดยขาดแคลนน้ำ
ยิ่งไปกว่านั้น ภัยแล้งยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งเพื่อแก่งแย่งทรัพยากรอีกด้วย โดยรายงานของ UNCCD ระบุว่ากว่า 40% ของความขัดแย้งภายในประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาราว 60 ปี มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแย่งชิงที่ดิน อาณาเขต และทรัพยากรธรรมชาติสู่การฟื้นชีวิตให้ผืนดิน ในการประชุม COP16 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
เป้าหมายการประชุมในครั้งนี้คือ การสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงยิ่งขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมพันธสัญญาในการฟื้นฟูที่ดิน ถึงแม้ว่าการตั้งเป้าหมาย Land Degradation Neutrality หรือการยับยั้งภาวะเสื่อมโทรมของที่ดิน จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญและได้ผลในการกระตุ้นให้หลายภาคส่วนร่วมกันลงมือทำงานภายใต้เป้าหมายเดียวกัน แต่เราก็ยังต้องการให้ชาติต่าง ๆ ทั่วโลกร่วมลงนามและลงมือกันมากขึ้น พร้อมให้คำมั่นสัญญาที่มั่นคงยิ่งขึ้นภายใต้กำหนดเวลาที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ต้องการตอกย้ำให้หลายฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการเพื่อการฟื้นฟูที่ดิน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเงินทุนมาขับเคลื่อนโดยเร่งด่วน ผ่านทางการสนับสนุนขององค์กรในหลายระดับ
สำหรับภาคเอกชนเองก็มีบทบาทที่สำคัญในภารกิจนี้เช่นกัน หลังจากที่ในอดีต ที่ดินเป็นเพียงแค่ทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้เพื่อแสวงหาผลกำไร ในวันนี้ เราต้องร่วมมือกันพลิกสมการและลงมือปกป้องที่ดินเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของเราทุกคน และช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับผืนดินที่ฟื้นคืนชีวิต การฟื้นฟูที่ดินเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว และงานวิจัยของ UNCCD ก็ได้ประเมินไว้ว่าทุก ๆ ดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนไปกับการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมจะสามารถให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 7-30 ดอลลาร์สหรัฐ
ในทางกลับกัน หากเราไม่ลงทุนและลงมือเพื่อแก้ไขวิกฤตของผืนดินทั่วโลกนี้ ทาง UNCCD ประมาณการไว้ว่าภาวะที่ดินเสื่อมโทรมจะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามากถึง 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของ GDP โลก
“ผมหวังว่าการประชุม COP16 ที่ริยาดจะเป็นก้าวสำคัญในการยับยั้งภาวะที่ดินเสื่อมโทรม พร้อมผลักดันให้ประชาคมนานาชาติร่วมกันเดินหน้าสู่อนาคตที่ยั่งยืนกว่าสำหรับทุกคน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง