“ฐานเศรษฐกิจ” ได้จัดงานสัมมนา “Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green”เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากวิทยากรในสาขาต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับตัวรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” โดยมีผู้เข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ในการเดินหน้าของประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้น ถือว่ามีความจำเป็นใน 2 มิติ โดยมิติแรก เป็นเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเป็นความอยู่รอดของชีวิต และมิติที่ 2 คือความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ หากประเทศไทยไม่ได้รับการการันตีว่าเป็นสีเขียว สิ่งที่จะเผชิญแน่นอน คือ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบตัวเลขการกีดกันทางการค้าจากกรณีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 16% บ่งบอกถึงทิศทางว่าธุรกิจจะอยู่ไม่รอด หากภาคเอกชนไม่ดำเนินไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เวทีโลกนำเรื่องการเข้าสู่สิ่งแวดล้อมสีเขียว มาผูกกับเรื่องเศรษฐกิจ แล้วเป็นข้อกีดกัน ทำให้ประเทศไทยเดินต่อยาก ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง”
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเจอ และเป็นพันธสัญญาหากทำไม่ทัน จะมีผลทางด้านลบต่อเศรษฐกิจ คือ ในปี 2030 ประเทศไทยจะต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 30-40% ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเรายังทำไม่ได้ ส่วนปี 2050 จะต้องเดินหน้าสู่ Carbon neutrality และในปี 2065 วางเป้าหมายสู่ Net Zero
ฉะนั้นเศรษฐกิจสีเขียวเป็นข้อผูกมัด และเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเป็นทางรอดของประเทศไทย และเมื่อต้องทำแล้ว มีหลายภาคส่วนที่ต้องเดินหน้าด้วยกันทุกภาคส่วน กระทรวงการคลังเอง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิต มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วย สำหรับสิ่งที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ มิติด้านการเงิน และมิติด้านภาษี
สำหรับในมิติด้านการเงินนั้น กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว เช่น ธนาคาร EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่ตื่นรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียวอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยมีพอร์ตสินเชื่อสีเขียวกว่า 70,000 ล้านบาท และกำลังจะก้าวสู่เป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ
นอกจากนี้ ยังได้มอบนโยบายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่สีเขียว ส่วนธนาคารออมสิน และ SME D Bank ก็มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อปรับปรุงภาคเอกชนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
ส่วนมิติทางด้านภาษีนั้น กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในช่วงตุลาคมนี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ โดยแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ
นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต
“ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม แต่จะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน”
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินภาษีดังกล่าว จากนี้ จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะจะเสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็นการใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่าง ๆ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิดผลิตขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5 เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม
นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน กลไกขับเคลื่อน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ตันคาร์บอนต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง คิดเป็น 70% รองลงมาเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย
“ตอนนี้เราเหลือเวลาอีก 6 ปี ที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 จาก 555 ล้านตันคาร์บอน ลงมาที่ 333 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งกลไกราคาคาร์บอนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้เราก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนี้ได้”
ดังนั้น ก่อนที่จะมี พ.ร.บ. Climate Change ออกมาบังคับใช้ กรมสรรพสามิต จึงได้เสนอให้มีการใช้กลไกของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เป็นการเก็บภาษีคาร์บอนนำร่องไปพลางก่อน โดยการเก็บภาษีของสินค้าที่ปล่อยมลพิษสูงและอยู่ในพิกัดสรรพสามิต
จากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ในการคำนวณกลไกราคาคาร์บอน โดยการนำสินค้าเชื้อเพลิงจำนวนเท่ากันไปเผาไหม้แล้วบันทึกปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ซึ่งเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีความสะอาดไม่เท่ากัน แต่การดำเนินงานของไทยเบื้องต้นอาจจะพิจารณากำหนดราคาคาร์บอนเป็นราคาเดียว เช่น 200 บาท หรือประมาณ 6 ดอลลาร์
“เมื่อนำราคาคาร์บอนไปคำนวณกับปริมาณเชื้อเพลิงก็จะได้ออกมาเป็นกลไกราคาคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งน้ำมันที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ LPG รองลงมาเป็นน้ำมันเตา ดีเซล และเบนซิน”
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องการบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายภาษีคาร์บอนคือ สะท้อนให้ผู้ใช้ตระหนักและเห็นว่าต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนออกมา แต่ยังไม่ต้องกังวลว่าภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มขึ้น และเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
“แนวนโยบายดังกล่าวเตรียมที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะมีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วจะกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทหรือไม่”
สำหรับนโยบายภาษีคาร์บอนนั้น คาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้เตรียมความพร้อมสำหรับต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อวางแผนในการคำนวณต้นทุน การลงทุนในการปรับเปลี่ยนนำไปสู่เทคโนโลยีสะอาด ว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหน ส่วนภาคประชาชนเองจะได้ตระหนักว่าการใช้ชีวิตมีต้นทุนในการปล่อยคาร์บอน
นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสภาพภูมิอากาศ Action Green Transition ได้กลายเป็นแนวคิดสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำพูดที่ทันสมัย แต่ยังเป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมของเราให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้วางแผนเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero โดยมีเป้าหมายระยะสั้นคือ "การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด" หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ 30-40% ภายในปี 2030 ขณะนี้แผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายสาขา ทั้งพลังงาน ขนส่ง เกษตร ของเสีย และอุตสาหกรรม ได้เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อบังคับใช้
สำหรับเป้าหมายใหม่ในปี 2035 ภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งมีกำหนดส่งภายใน 1 กุมภาพันธ์ 2025 นั้น ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะดำเนินการให้ทัน แม้จะมีความท้าทาย เนื่องจากทั่วโลกต้องการเห็นการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 60% โดยเฉลี่ย
ทั้งนี้กรมกำลังเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมีเป้าหมายไม่ใช่เพื่อ “ฆ่า” ธุรกิจไทย แต่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero บนพื้นฐานของความยั่งยืน
พ.ร.บ. นี้ประกอบด้วย 14 หมวด แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. การลดก๊าซเรือนกระจก โดยกำหนดให้มีการรายงานข้อมูลเป็นรายองค์กร 2. กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading) ของภาคอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา 3. การจัดสรรสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความสามารถในการผลิตและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา
ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.บ. นี้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในปี 2025 เพื่อส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2026
“พ.ร.บ.ฉบับนี้ เสนอคณะอนุกรรมการทางกฎหมายไปแล้วทั้งหมด 14 ครั้ง เหลืออีก 2 ครั้งที่จะไปคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในเดือนตุลาคม จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. เพื่อรับหลักการและส่งไปยังกฤษฎีกาตรวจร่างจะใช้เวลานานเท่าไหร่ตอบไม่ได้ เเต่จากนั้นก็ไปสภาฯ ตามวาระและนำไปสู่การบังคับใช้ กรมต้องการเห็นการบังคับใช้ในปี 2026”
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดภาพรวมของความเสี่ยงในระดับจังหวัด ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมหรือภัยแล้ง เป็นไปอย่างยากลำบาก การพัฒนา Climate Data Center ของกรมในปี 2568 จะช่วยให้มีข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน เพื่อการวางแผนและการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน
รวมถึงกลไกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องภาษี เเละ ETS ซึ่งก็คือการกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิต และการตั้งกองทุนภูมิอากาศ โดยจะมีแหล่งเงินจากหลายแหล่ง เบื้องต้นจะขอจากรัฐบาลไม่เกิน 5,000 ล้านบาทในช่วง 2 ปี จากนั้นจะมีแหล่งเงินจากการประมูลสิทธิ์ก๊าซเรือนกระจกและมีแหล่งเงินจากการขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศที่เป็นค่าธรรมเนียมที่ต้องเก็บ
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวภายใต้หัวข้อ การพัฒนาพลังงานสะอาด ว่า บทบาทที่สำคัญของ กฟผ. ในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดมีอยู่ 2 พันธกิจ ประกอบด้วย
1.บทบาทในเรื่องของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว หรือพลังงานสะอาดให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งจะมีหลายบาทบาท โดยปัจจุบัน กฟผ. ไม่ได้เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงผู้เดียว จะมีบทบาทจากภาคธุรกิจ ภาคเอกชน มีส่วนในการพัฒนาพลังงานสะอาดด้วยเช่นกัน
ในบทบาทดังกล่าวนี้ กฟผ. จะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ซึ่งจะเป็นต้นแบบในเรื่องการพัฒนาพลังงานสะอาดบนพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว คือพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ ที่มีอยู่ 10 เขื่อนทั่วประเทศ
ขณะที่ภาคเอกชนก็มีการลงทุนพลังงานสีเขียว ทั้งจากต่างประเทศ ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาวก็มีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานน้ำ รวมถึงการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งภาคเอกชนจะมีขยายการพัฒนาว่าเป็น IPP ,SPP และ VSPP โดยจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียว
นอกจากนี้ กฟผ. ยังดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มขีดความสามารถของระบบส่ง เพราะแหล่งพลังงานผลิตได้อยู่ในพื้นที่ แต่ลูกค้าหรือผู้ใช้ไฟฟ้าจะอยู่อีกพื้นที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นสายส่งก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาพลังงานสีเขียวไปให้ผู้ใช้พลังงานสีเขียวได้
อีกทั้ง ยังมองไปไกลถึงอนาคตว่า หากมีเชื้อเพลิงอะไรที่มาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลิตไฟฟ้าได้เหมือนกัน โดยปัจจุบันทั่วโลกต่างมุ่งเน้นไปสู่เชื้อเพลิงที่เรียกว่าไฮโดรเจน หรือแอมโมเนีย ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติได้ ซึ่ง กฟผ. ได้มีความร่วมมือที่จะศึกษาร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียที่จะพัฒนาในเรื่องการนำเทคโนโลยีการใช้ไฮโดรเจน และแอมโมเนียมาใช้แทนฟอสซิล
2.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบไฟฟ้าให้รองรับกับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนให้ได้ โดยถือเป็นบทบาทที่สำคัญอย่างมาก เพราะอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าพลังงานหมุนเวียนจะผลิตได้ช่วงกลางวัน ซึ่งบางครั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ในช่วงหัวค่ำ หรือกลางคืน เพราะฉะนั้นการเสริมระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย และยืดหยุ่นที่เราเรียกว่า Grid Modernization จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรื่องนำการพัฒนาพลังงานสะอาดของไทยให้ไปสู่หมุดหมายที่วางไว้ได้
อีกทั้ง ยังมีการจัดการเรื่องความแข็งแกร่งของระบบส่ง เพื่อรองรับกับพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำเรื่องของเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการจัดการทางด้านพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบกักเก็บพลังงาน การพัฒนาระบบสายส่งของไทยในอนาคต เพื่อตอบโจทย์พลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดเก็บพลังงาน ที่เรียกว่าการบริหารจัดการพลังงาน ระบบจัดการพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ที่ใช้ระบบส่งที่เรียกว่า Grid-Scale BESS ซึ่งจะมีส่วนช่วยสำคัญ
“ในช่วงพลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานแสงอาทิตตย์ หรือเป็นลมที่ผลิตเกินความต้องการ แต่คิดว่าใช้ไม่หมด คงไม่ได้ปล่อยพลังงานดังกล่าวให้สูญหายไป ดังนั้น จึงต้องมีระบบระบบกักเก็บไว้ก่อน หลังจากนั้นในช่วงความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำก็สามารถใช้ระบบกักเก็บนำมาปล่อยไฟฟ้าในระบบสายส่ง และส่งให้ผู้ใช้ไฟต่อไปได้ในอนาคต”
ที่ผ่านมา กฟผ.มีโครงการนำร่องที่จังหวัดชัยภูมิ และลพบุรี ซึ่งในอนาคตหากพลังงานสะอาด และพลังานสีเขียวจะเพิ่มสูงขึ้นตามแผน PDP ก็จะพบว่าภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะเป็นส่วนที่ช่วยจัดการพลังงานส่วนเกินในระบบได้
นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower : PSH) โดยปัจจุบันมีที่เขื่อนลำตะคอง เขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนศรีนครินทร์ มีข้อดี เพราะสามารถช่วยจัดการพลังงานที่มีขนาดใหญ่ได้ และสามารถถ่ายเทพลังงานเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพลังงานส่วนเกิน หากมองทางเลือกว่าจำเป็นต้องสร้างสายส่งเพื่อส่งพลังงาน ไปเก็บหรือใช้ที่อื่น หากใช้วิธีเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนด้านสายส่งได้ในอนาคต กฟผ. ก็มีแผนที่จะทำในพื้นที่ต่าง ๆ ในปี 2037 ทั้งที่เขื่อนจุฬาภรณ์ วชิราลงกรณ์ และภาคใต้
นายธวัชชชัย กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญที่ช่วยควบคุมเรื่องการบริหารส่งจ่ายไฟอย่างเพียงพอทุกนาที โดยจะช่วยบริหารจัดการพลังงาน เรียกว่า ระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) ซึ่งจะใช้โมเดลเรื่องการผลิตโซลาร์ พลังงานลม และพยากรณ์ 1 วันล่วงหน้า สามารถพยากรณ์ได้ 6 ชั่วโมงล่วงหน้า เพื่อวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าในทุกนาทีให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4031วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง