sustainability

“ดีพร้อม” ยกระดับ "SMEs" สู่ BCG ดันไทยขึ้นแท่นฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิต

    “ดีพร้อม” ยกระดับ "SMEs" สู่ BCG ดันไทยขึ้นแท่นฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิต เดินหน้าส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี (SMEs) ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ 

รวมถึงเชื่อมโยงสู่การขอมาตรฐานหรือฉลากสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนา โดยสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมที่มุ่งขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ 
 

โดยมียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ซึ่งเป็นการมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการให้บรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปพร้อมกับชุมชน 

“ดีพร้อม” ยกระดับ "SMEs" สู่ BCG ดันไทยขึ้นแท่นฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นายภาสกร กล่าวว่า ดีพร้อมได้ดำเนินโครงการยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG  โดยได้อัพสกิลบุคลากรภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,500 คน พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 565 กิจการ เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ 130 ผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากกระบวนการอัพไซเคิล กว่า 70 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการดำเนินงานตามแนวคิด BCG ประกอบด้วย 

  • Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง เช่น ขิง ขมิ้นชัน ไพล การผลิตภัณฑ์ใหม่จากซูเปอร์ฟู้ด ได้แก่ โกโก้ ผำ ตั๊กแตน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมจากเส้นใยชีวภาพ อาทิ กัญชง สับปะรด ไผ่ ผักตบชวา 
     
  • Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านอาหาร แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ จากวัสดุเหลือใช้ ของเสีย หรือผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เช่น เศษไม้ ป้ายไวนิล เศษผ้า 

“ดีพร้อม” ยกระดับ "SMEs" สู่ BCG ดันไทยขึ้นแท่นฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิต

  • Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการยกระดับและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทำรายงานการประเมินก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก อาทิ CFO, CFP, CFR และ CE-CFP 

อย่างไรก็ดี จากการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง ทั้งจากต้นทุนการใช้พลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการต่อยอดสู่ตลาดสากล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1,380 ล้านบาทต่อปี 

และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 61,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้นคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่