จับตาเมียนมา คุมโควิดไม่อยู่ สะเทือนถึงไทย

06 ก.ย. 2563 | 02:46 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2563 | 10:15 น.

สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดในเมียนมา จะกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมา รวมถึงกระทบถึงไทยอย่างไรบ้างนั้น ฟังบทสัมภาษณ์"กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์" ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

 

กลับมาหวาดผวากันอีกรอบทันทีที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ในเมืองชิตตเวหรือเมืองชิตต่วย รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ทำเอากระทรวงมหาดไทย ต้องรีบออกหนังสือด่วน ถึงผู้ว่าราชการทั้ง 10 จังหวัด ติดชายแดนเมียนมา ขอให้เฝ้าระวังการเข้าเมือง อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง แม่ฮ่องสอน และราชบุรี  


การแพร่ระบาดในเมียนมาครั้งนี้ ประเมินเบื้องต้นอยู่ในจุดที่เสี่ยงและไม่ควรวางใจไปอีกยาวๆ เนื่องจากเมียนมา รัฐยะไข่ อยู่ใกล้ประเทศบังกลาเทศมีพรมแดนติดกัน สามารถเดินทางถึงกันในช่องทางธรรมชาติได้หลายช่องทาง อีกทั้งทางตอนเหนือของเมียนมาก็อยู่ติดกับอินเดีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ "กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์" ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา หนึ่งในนักธุรกิจที่คุ้นเคยกับเมียนมามายาวนานกว่า 30 ปี มองถึงความเคลื่อนไหวทางเศรษฐ กิจของเมียน มาท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 และข้อควรระวังสำหรับการเดินทางเข้า-ออกไทย-เมียนมา อีกทั้งการควบคุมแรงงานเมียนมาในไทย ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  


นายกริช เล่าว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเมียนมา  มีจำนวนคนติดเชื้อและการรับมือของรัฐบาลเมียนมาถึงเช้าวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อสะสม 787 รายเฉพาะผู้ที่อยู่ในรัฐยะไข่ ในวันที่ 31 วันเดียว 11 ราย ซึ่งใน 3 วันมานี้ ที่ย่างกุ้งมีทั้งหมด 17 ราย ถือเป็น 2 จุดหลักในเมียนมาที่มีการแพร่ระบาดมากในขณะนี้

 

ด้านรัฐบาลเมียนมาได้กำหนดมาตรการล็อกดาวน์รัฐยะไข่ทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองชิตต่วยและเมี่ยวอู ร้านค้าไม่อนุญาตให้เปิดโดยไม่จำเป็น  อีกทั้งได้มีการอนุมัติเงินลงไปช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เร่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแลเรื่องอาหารความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับนักธุรกิจไทย-เมียนมาการเดินทางเข้าออกประเทศเมียนมาโดยทางเครื่องบินยังคงถูกปิดสนิทอยู่ ที่ผ่านมาจะมีการอนุมัติให้สายการบินดำเนินการได้เฉพาะเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เช่น หากถูกร้องขอจากสถานทูตต่าง ๆ ก็จะอนุญาตให้ใช้เที่ยวบินพิเศษเท่านั้น ในขณะที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า อนุญาตให้สายการบินจากประเทศญี่ปุ่นดำเนินการก่อน แต่ขณะนี้ได้ถูกทบทวนใหม่อีกครั้งก่อน และจะประกาศภายหลังอีกครั้งต่อไป

 

จับตาเมียนมา คุมโควิดไม่อยู่  สะเทือนถึงไทย

                                    กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ 

 

ธุรกิจยังไม่ควรเข้าเมียนมา

 

นักธุรกิจไทย ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ที่ผ่านมาจะต้องเข้าสู่การกักกันตัวที่ประเทศต้นทางก่อน 7 วัน และเมื่อเข้าสู่เมียนมา ก็จะต้องเข้าสู่โปรแกรมกักกันตัว 21 วัน เมื่ออนุญาตปล่อยตัวแล้วจะต้องกักกันตนเองที่บ้านอีก 7 วัน ดังนั้นช่วงนี้ยังไม่ควรเดินทางเข้าไปในเมียนมา ในขณะที่ผู้ที่พำนักอยู่ที่นั่นไม่ได้เดินทางกลับมา ควรจะต้องระมัดระวังตนเองเวลาออกไปนอกเคหะสถาน และจำเป็นต้องจดแจ้งแสดงตนต่อสถานทูตไว้ก่อน หากมีเหตุการณ์ ใด ๆ เกิดขึ้น ทางสถานทูตจะได้แจ้งข่าวให้ทราบในทันที

 

สำหรับบรรยากาศด้านการค้า-การลงทุนในเมียนมา ก่อนเกิดเหตุการณ์โควิด-19 กำลังมีการเปลี่ยน แปลงไปในทิศทางที่สดใสขึ้นมาก  เพราะทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์โรคระบาดเมียนมาเป็นประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนเม็ดเงินจากทางธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และ IMF มากที่สุดในแถบภูมิภาคนี้

 

ดังนั้นกระแสเงินที่เข้าสู่ระบบจึงมีมาก อีกทั้งโครงการพัฒนาประเทศที่ได้รับการช่วยเหลือและร่วมมือจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่ได้หยุดนิ่งตามเหตุการณ์โรคระบาดเลย ทุกอย่างยังเดินหน้าต่อไปแม้จะมีความล่าช้าไปบ้างก็ตาม  ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมียนมาจึงมีความโดดเด่นกว่าประเทศในแถบภูมิภาคนี้ จะเห็นได้จากการคาดการณ์ของหลายสำนักว่า GDP ในปี 2563 ของเมียนมายังเป็นบวกอยู่ ในขณะที่ทั่วโลกติดลบเกือบจะทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา การแพร่กระจายเชื้อ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่เมืองชิตต่วยและเมืองเมี่ยวอู รัฐยะไข่ ยังจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลเมียนมาจะสามารถควบคุมให้อยู่ในการจัดการได้หรือไม่อย่างไรต่อไป

 

จับตาเมียนมา คุมโควิดไม่อยู่  สะเทือนถึงไทย

 

อาจต้องเลื่อนเลือกตั้ง

 

นายกริชตั้งข้อสังเกตว่าหากภายในวันที่ 10 เดือนกันยายน มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน แสดงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคุมไม่อยู่ สิ่งที่จะตามมาคือ รัฐบาลเมียนมาอาจจะต้องดำเนินการปิดประเทศที่เข้มข้นยิ่งขึ้น และอาจจะต้องมีการเลื่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน  ผลที่จะตามมาคือความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดี อาจจะต้องหยุดชะงักลง ปัญหาการว่างงานจะรุนแรงมากขึ้น ด้านการค้าที่มีเขตแดนติดต่อกัน 4 ประเทศเช่น ไทย จีน อินเดีย บังกลาเทศ คงต้องถูกล็อกดาวน์อีกครั้ง ผลความเสียหายทางเศรษฐกิจต้องเกิดขึ้นมากกว่าที่คิดแน่นอน

 

เข้มงวดแรงงานเข้า-ออก

 

 ในขณะที่ประเทศไทยเอง คงต้องเข้มงวดต่อการเข้ามาของแรงงานเมียนมา (ขณะนี้ได้ถูกปิดตายอยู่) ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป จังหวัดที่อยู่ติดชายแดนเมียนมา 10 จังหวัด จะต้องถูกผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์แน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม แผนการเปิดประเทศของเมียนมาจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ไปขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน คงต้องรอดูสถานการณ์หลังจากนี้อีกครั้ง หากสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ น่าจะเห็นการเปิดประเทศอีกครั้งหลังเดือนตุลาคมนี้

 

ส่วนผลกระทบต่อแรงงานเมียนมาต่อสถานการณ์ครั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานที่ยังคงไม่ได้กลับประเทศยังเหลืออยู่มาก ส่วนที่กลับไปแล้วยังไม่สามารถกลับมาไทยได้ เพราะด่านชายแดนยังไม่อนุญาต แต่แรงงานผิดกฎหมายก็ยังเห็นเล็ดรอดเข้ามาบ้าง แต่ไม่มากเหมือนภาวะปกติ  ซึ่งทั้งหมดยังเป็นมุมที่ไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต้องรับมือให้ทัน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการเตือนวิกฤติโควิดในเมียนมา รุนแรงกว่าที่คิด

เมียนมาขยายเวลาห้ามผู้เดินทางเข้าประเทศถึงสิ้นเดือนก.ย.หวังสกัดโควิด-19

“เมียนมา”พบผู้ติดเชื้อโควิดวันเดียวพุ่ง 90 คน