ประชาชนมีสิทธิไหม? ฟ้องธปท.ให้กำกับการปล่อยสินเชื่อ!

12 พ.ย. 2566 | 02:30 น.

ประชาชนมีสิทธิไหม? ฟ้องธปท.ให้กำกับการปล่อยสินเชื่อ! คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3939

ช่วงนี้... หลายคนคงกำลังกังวลกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจต้องหาทางเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอลดอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงการรีไฟแนนซ์ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมกัน เมื่อพูดถึงเรื่องเงินกู้และดอกเบี้ย ... ทำให้นึกไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันทางการเงินต่าง ๆ 

คดีที่จะคุยกันต่อไป ... เป็นเรื่องของประชาชนรายหนึ่ง คือ นางสาวจำปา ที่ได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่า ธปท. ละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยปล่อยให้สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิตแก่ประชาชนทั่วไป ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ค้ากำไรและวงเงินที่สูงเกินกว่าเหตุ

ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคประชาชนพุ่งสูง เกิดปัญหาหนี้เสีย ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สินจำนวนมาก ฉุดรั้งคนไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพตั้งตัวเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ จนเกิดเป็นคดีอาชญากรรม 

เรื่องนี้มีประเด็นปัญหาน่าสนใจว่า นางสาวจำปา ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่เกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยต่อสังคมและชาติบ้านเมือง โดยที่ตนยังไม่ได้เป็นผู้รับผลกระทบจากเรื่องที่ฟ้องโดยตรง  เช่นนี้ ... “ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิฟ้องไหมคะ?” นายปกครองขอพาทุกท่านไปหาคำตอบให้กับแม่จำปากันขอรับ ...

 มูลเหตุของคดีมีอยู่ว่า ... นางสาวจำปา ในฐานะประชาชนทั่วไป เห็นว่า ธปท. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ในการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)

แต่ละเลยต่อหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์ นโยบาย และการประเมินผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งละเลยการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 

ทั้งนี้ นางสาวจำปา มีคำขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้ ธปท. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยออกหลักเกณฑ์และระเบียบในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต

รวมทั้งประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทต่าง ๆ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเดียวกัน และกำกับให้สถาบันการเงินมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ 

คดีมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่า ... นางสาวจำปา (ผู้ฟ้องคดี) เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองหรือไม่ ? โดยจำต้องพิจารณาให้ได้ความในเบื้องต้นว่า

1. นางสาวจำปา เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากกรณีดังกล่าวหรือไม่?

และ 2. คำขอของ นางสาวจำปา เป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ได้ตามกฎหมาย และมีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของนางสาวจำปาโดยตรงหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีข้างต้นถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง (ธปท.) ละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย หรือ ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542  

แต่โดยที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของ ธปท. ในส่วนที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ หรือ การทำธุรกรรมของสถาบันการเงินอย่างไร

ซึ่งการที่ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงจากการละเลยต่อหน้าที่ของ ธปท. ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นการเฉพาะตัว จากการละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวแต่อย่างใด และก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครอง ก็ไม่ได้มีหนังสือร้องขอให้ ธปท. ตรวจสอบหรือกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแห่งใด 

ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือ เสียหาย หรือ อาจจะเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากกรณีดังกล่าว ประกอบกับคำขอของผู้ฟ้องคดี ถือเป็นภารกิจของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่จะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น นโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น อันเป็นการใช้อำนาจทางด้านบริหารของฝ่ายปกครองโดยเฉพาะ ศาลไม่อาจเข้าไปก้าวล่วงการใช้อำนาจดังกล่าวได้  

                                 ประชาชนมีสิทธิไหม? ฟ้องธปท.ให้กำกับการปล่อยสินเชื่อ!

นอกจากนี้ หากศาลมีคำบังคับตามคำขอท้ายฟ้อง ก็ไม่มีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ใช่คำขอที่ศาลปกครองอาจกำหนดคำบังคับได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ 

ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 854/2565) 

สรุปได้ว่า … ในการฟ้องคดีปกครองนั้น นอกจากคดีที่ยื่นฟ้องจะต้องเป็นคดีปกครอง ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีอื่น ๆ ด้วย

ซึ่งเงื่อนไขประการแรก คือ ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี โดยจะต้องแสดงให้ศาลเห็นได้ว่า ตนเป็นผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือ มีส่วนได้เสีย และเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เป็นการเฉพาะตัว จากการกระทำทางปกครอง หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร 

อันเป็นเหตุแห่งข้อพิพาทตามที่กล่าวอ้างอย่างไร  รวมทั้งคำขอท้ายฟ้องจะต้องมีผลเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อน ที่ผู้ฟ้องคดีได้รับโดยตรง และเป็นคำขอที่ศาลมีอำนาจตามกฎหมายในการที่จะกำหนดคำบังคับให้ได้ด้วย ... 

จึงนำมาสู่คำตอบหรือบทสรุปสั้น ๆ ที่ว่า ประชาชนทั่วไปที่มิใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงในเรื่องที่ฟ้อง ยังไม่อาจถือเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนะขอรับ ... แม่จำปา 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)