พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการวางแผนการก่อสร้างเมืองในอนาคตของจีน ที่ได้ตั้งเป้าปลูกป่าระดับชาติ 300 แห่ง อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสร้างระบบนิเวศของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568)
ทั้งนี้ จากการที่จีนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองป่า หรือ ป่าในเมือง เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมของพื้นที่เขตเมือง ผ่านพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอุณหภูมิอากาศเฉลี่ย ปรับปรุงคุณภาพอากาศ ลดมลพิษเสียง และสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ป่าใหม่ๆ
พร้อมกับปรับปรุงความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น ตามแผนพัฒนาแห่งชาติที่ออกโดย สำนักงานป่าไม้และการบริหารจัดการทุ่งหญ้า กำหนดให้มีการพัฒนาป่าในเมือง 200 แห่ง ภายในระยะเวลา 2 ปี
และภายใต้แผนนี้ ได้รวมพื้นที่ของกลุ่มเมืองยุทธศาสตร์อย่าง ปักกิ่ง - เทียนจิน – เหอเป่ย รวมทั้งเมืองฝั่งแม่น้ำแยงซี กับภูมิภาคชายแดนที่เชื่อมต่อประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมในโครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” โดยจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาเมืองป่า หรือ ป่าในเมือง
1. การพัฒนาเมืองป่า จะมีส่วนช่วยในแผนการสร้างชาติจีนให้สวยงามในปี ค.ศ. 2035 (พ.ศ. 2578) โดยจำเป็นต้องปรับปรุงการรับรู้ของประชาชนในด้านการคุ้มครองระบบนิเวศ และสร้างแรงสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่เขียวขจี และสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
2. การพัฒนาเมืองป่า จะเป็นการขยายพันธุ์พืชและเสริมสร้างการปกป้องทรัพยากรทางนิเวศวิทยา ด้วยการเพิ่มการลงทุนและความร่วมมือระหว่างประเทศ
อาจกล่าวได้ว่า การที่จีนได้กำหนดให้การสร้างระบบนิเวศเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ ในขณะที่กระแสการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม กำลังมีบทบาทที่สำคัญทั่วโลก
ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีประชากรในเขตเมืองมากกว่า 800 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านคนในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ. 2573)
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) จีนได้มีการปลูกป่าในแต่ละเมืองโดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้น 13,333 เฮกตาร์ หรือเท่ากับ 83,331.25 ไร่
นอกจากนี้ ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีเมืองมากกว่า 200 เมือง ใน 18 มณฑลของจีน ได้มีส่วนร่วมในแผนพัฒนาเมืองป่า
ทั้งนี้ ประสบการณ์ของจีนที่สามารถเอาชนะความท้าทายในการสร้างเมืองป่า จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยปรับปรุงระบบนิเวศต่อไป
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://english.scio.gov.cn/.../09/content_55763384.htm และเว็บไซต์ https://www.urdupoint.com/.../china-plans-300-forest... )