พื้นที่ทางการคลังที่เหลือจำกัด กับการเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล

22 มิ.ย. 2567 | 02:30 น.

พื้นที่ทางการคลังที่เหลือจำกัด กับการเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4003

แค่วันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระที่ 1 ภายใต้วงเงินรวม 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อน 7.8% เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา ก็ทำเอาสภาเดือดทีเดียว

โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายค้าน ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มองว่า “รัฐบาลมีความพยายามจะผลักดันในระดับดันทุรังเพื่อให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำได้สำเร็จ ดันทุรังแบบที่เรียกว่า เจ๊งไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้”

 

โดยงบที่ใช้ทำโครงการดังกล่าวอยู่ในงบกลาง เป็นรายการตั้งชื่อใหม่ว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.9% ของงบกลางทั้งก้อน 805,745 ล้านบาท” 

ผู้นำฝ่ายค้านมองว่า ความพยายามจัดสรรงบเพื่อใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงทำให้เกิดปัญหาทางการคลัง ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย การจ่ายหนี้ภาครัฐสูงขึ้นในอนาคต และเสียพื้นที่ทางการคลัง หากจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน หรือ ลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่

ประเด็นพื้นที่ทางการคลัง หรือ “Fiscal Space” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ โดยจะดูความสามารถในการก่อหนี้สาธารณะจากระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ไปจนถึงเพดานหนี้สาธารณะของประเทศ หากมีพื้นที่มาก ก็จะมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจก็จะน้อย ซึ่งประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากจนใกล้กับเพดานหนี้สาธารณะ ถือว่า มีพื้นที่ทางการคลังเหลือน้อย อาจมีข้อจำกัดในการรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ปีนี้รัฐบาลปรับแผนการคลังระยะปานกลาง 2568-2571 มาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งการเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณปี 2568 อีก 1.52 แสนล้านบาท และการจัดทำงบประมาณกลางปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาท ด้วยการเพิ่มวงเงินกู้ขาดดุลอีก 1.12 แสนล้านบาท เพื่อจัดหางบประมาณในการจัดทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

การเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณทั้ง 2 ปี ยิ่งทำให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีงบประมาณ 2571 หนี้สาธารณะไทยจะขยับไปสูงกว่า 68% ทำให้พื้นที่การคลังไทยเหลือไม่ถึง 2% หากวัดจากเพดานการก่อหนี้ที่ 70%  ซึ่งไม่เพียงพอหากเกิดวิกฤตขนาดใหญ่ที่กระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง

ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากรัฐบาลยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้น จีดีพีโตขึ้น หรือลดรายจ่ายภาครัฐ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง ก็มีความเสี่ยงที่ไทยต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากระดับ 70% ในปัจจุบัน เนื่องจากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงจนเกือบชนเพดาน แม้รัฐบาลยืนยันว่า สามารถที่จะขยายเพดานเพิ่มขึ้นได้ แต่จะกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของประเทศ 

นั่นอาจเป็นเหตุผลให้รัฐบาลยืนยันถึงความจำเป็นของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะทำให้เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับฐานราก กระจายไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การสั่งผลิตสินค้า การจ้างงาน และหมุนกลับมาเป็นเงินภาษีให้กับภาครัฐ เพื่อใช้ในการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศต่อไป