คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3493 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 4-7 ส.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'
ประวัติศาสตร์การประมูล (2)
ตอนที่แล้วผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทย ที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด
คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 (ด้านการเงิน) ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ และ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร ที่ผ่านด้านเทคนิคมาแล้ว เมื่อเปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล
คณะกรรมการฯ เรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 และเริ่มสรุปผลการประมูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 7 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน
อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไม “เอกชน-รัฐ” จึงมีการยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้
สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน มีอะไรในกอไผ่ มาติดตามกันในร่างสัญญาตอนที่ 2 กัน ณ ที่นี้ต่อครับ...
(5) การดำเนินกิจการทางพาณิชย์ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในทางพาณิชย์ รวมถึงการจัดเก็บรายได้บริเวณสถานีรถไฟ ภายในและภายนอกขบวนรถไฟ ทั้งหมดที่ใช้ในโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารอื่นๆ กับสถานีรถไฟของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และการดำเนินการอื่นใดภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 และขอบเขตของโครงการฯ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.3
โดยในส่วนของการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ บริเวณสถานีรถไฟของโครงการเกี่ยวกับรถไฟสามารถแบ่งขอบเขตในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ได้ ดังต่อไปนี้
(ก) สถานีดอนเมือง และสถานีบางซื่อ โดยเอกชนคู่สัญญามีสิทธิในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ภายในบริเวณสถานีรถไฟดังกล่าว เฉพาะพื้นที่ขายตั๋วโดยสารและพื้นที่ชานชาลาที่รถไฟของโครงการจอดรับส่งผู้โดยสาร
(ข) สถานีพญาไท สถานีราชปรารภ สถานีรามคำแหง สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา เอกชนคู่สัญญามีสิทธิในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟดังกล่าวดทั้งหมด แต่ไม่รวมถึงอาคารและสถานที่จอดรถและจร
(ค) สถานีมักกะสัน และสถานีฉะเชิงเทรา เอกชนคู่สัญญามีสิทธิในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ บริเวณสถานีรถไฟดังกล่าวทั้งหมดเท่าที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงอาคารและสถานที่จอดรถและจร
(ง) สถานีสุวรรณภูมิและสถานีอู่ตะเภา เอกชนคู่สัญญามีสิทธิในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เฉพาะเท่าที่ รฟท. มีสิทธิตามกฎหมายไทยหรือได้รับสิทธิจากหน่วยงานของรัฐ
4.2 รูปแบบการร่วมลงทุน ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนนี้ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาตกลงร่วมลงทุนในโครงการ โดยใช้รูปแบบการร่วมลงทุนที่กำหนดให้เอกชนคู่สัญญารับผิดชอบงานการออกแบบ งานการก่อสร้าง งานการจัดหาแหล่งเงินทุน งานการให้บริการ และงานการบำรุงรักษา (Desing-Build-Finance-Operation-Maintenance:DBFOM) ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน กำหนดรูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนของคู่สัญญาแบบ PPP Net Cost และมาตรการสนับสนุนของโครงการฯตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8 และกำหนดลักษณะการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการฯ ให้แก่รฟท.
โดยหากเป็นทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ จะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในลักษณะ Build-Transfer-Operate: BOT และหากเป็นทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากทรัพย์สินดังกล่าวจะเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในลักษณะ Build-Operate-Transfer:BTO
ทั้งนี้ รายละเอียดการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการ ปรากฏในข้อ 7
4.3 สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย (1) สิทธิและหน้าที่่ของ รฟท. มีสิทธิและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(ก) มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาตามรายละเอียดในข้อ 8.1
(ข) มีหน้าที่ให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในรถไฟความเร็วสูงแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 15.1
(ค) มีหน้าที่ให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์แต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 15.2
(ง) มีหน้าที่ให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ส่วนต่อขยายแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 15.1
(จ) มีหน้าที่ให้สิทธิการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการแก่เอกชนคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 16.1
(ฉ) มีหน้าที่ให้สิทธิการดำเนินกิจการทางพาณิชย์แก่เอกชนคู่สัญญาแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 16.2
(ช) มีหน้าที่จัดหาและส่งมอบพื้นที่ของโครงการให้แก่เอกชนคู่สัญญา ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 24.2 และดำเนินการให้เอกชนคู่สัญญาเข้าไปในพื้นที่ของโครงการ ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เพื่อดำเนินงานในระยะที่ 1 ในส่วนแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15.2
(ฌ) มีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับเอกชนคู่สัญญาเพื่อให้เอกชนคู่สัญญาประสานงานอำนวยความสะดวก และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้หน่วยงานของรัฐอื่นที่เกี่ยวข้องในการรื้อย้าย หรือปรับปรุง หรือก่อสร้างใหม่ของงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการเกี่ยวกับรถไฟในพื้นที่เขตทางรถไฟซึ่ง รฟท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ให้แล้วเสร็จโดยไม่ใช้ค่าใช้จ่ายของเอกชนคู่สัญญา
(ญ) ปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดของ รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน
(2) สิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว และหน้าที่ดังต่อไปนี้
(ก) มีสิทธิได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ จาก รฟท. ตามรายละเอียดในข้อ 18
(ข) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 15.1
(ค) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินแอร์พอร์ตเรลลิงค์แต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในข้อ 15.2 และชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8.1(3)
(ง) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายแต่เพียงผู้เดียวตาม รายละเอียดในข้อ 15.1
(จ) มีสิทธิและหน้าที่ในการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯแต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 16.1
(ฉ) มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ แต่เพียงผู้เดียว ตามรายละเอียดในข้อ 16.2
(ช) มีสิทธิจัดเก็บและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากโครงการฯ และค่าโดยสารแต่เพียงผู้เดียวตามรายละเอียดในข้อ 8.3
(ซ) มีหน้าที่นำส่งผลประโยชน์ตอบแทนของ รฟท.ให้แก่ รฟท. ตามรายละเอียดในข้อ 8.1
(ฌ) มีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการให้แก่ รฟท. ตามรายละเอียดในข้อ 7
(ญ) มีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินที่ใช้ในโครงการ รวมถึงงานโยธาและสิ่งอำนวยความสะดวกงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ อุปกรณ์ต่างๆ ตามรายละเอียดในข้อ 31
(ฎ) มีหน้าที่ดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาและดำรงรักษาใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ ตลอดจนการดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญา ให้มีผลใช้บังคับ และยื่นขอใบอนุญาตใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ ตลอดจนดำเนินกิจการของเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจดทะเบียน และปฏิบัติตามกฎหมายไทยซึ่งจำเป็นต่อภาระหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาตามสัญญาร่วมลงทุน
(ฏ) มีสิทธิอื่นๆ และปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดของเอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ รฟท.ตามรายละเอียดในข้อ 22 การจัดทำประกันภัย ตามรายละเอียดในข้อ 20 และการจัดหาทรัพย์สินทางปัญญาตามรายละเอียดในข้อ 21
(ฐ) เอกชนคู่สัญญาไม่มีสิทธิให้สิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟแก่บุคคลอื่นนอกจากนิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติเป็นหนังสือจาก รฟท.ก่อน โดยในกรณีที่ รฟท.อนุมัติและเอกชนคู่สัญญาให้สิทธิช่วงดังกล่าวให้แก่นิติบุคคลผู้ให้บริการการเดินรถและบำรุงรักษา คู่สัญญาตกลงกันดังต่อไปนี้
ฉบับหน้ามาตามกันต่อนะครับ...