ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า กลับต้องเผชิญทุกข์ซํ้าจากการรีดเอาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อันเกิดจากความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐในส่วนของท้องถิ่นในการทำหน้าที่การจัดเก็บ
ในห้วงเวลานี้แทบทุกคนจะได้รับจดหมายจากสำนักงานเขตในพื้นที่ กทม. และจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ถ้าท่านมีชื่อในทะเบียนหรือชื่อในโฉนดที่ดิน ชื่อเจ้าของอาคารในต่างจังหวัดบอกว่า ให้ตรวจสอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพร้อมส่งเอกสารแนบมา และให้ไปเสียภาษีเสียให้ถูกต้อง หากทรัพย์สินไม่ตรงตามหนังสือแจ้งก็ให้ไปร้องค้าน หรือ อุทธรณ์
ความปั่นป่วนก็เกิดขึ้นไปทั่วด้วยเหตุความไม่ชัดเจน ในการเรียกเก็บ หรือกระทั่งการประเมิน โดยเฉพาะกรณีตึกแถวในการครอบครองของเจ้าของทรัพย์จะเป็นปัญหามากที่สุด
มีการร้องเรียนเข้ามาที่ “ฐานเศรษฐกิจ” หลายราย ว่าได้รับความเดือดร้อน ด้วยความที่เป็นประชาชนผู้ตรงไปตรงมา มีจดหมายหนังสือมาก็ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ประสงค์เลี่ยงภาษี ติดค้างฝ่าฝืนกฎหมาย
กรณีร้องเรียนที่พอยกตัวอย่างให้เห็นได้ ว่าเป็นปัญหาและอาจเป็นเรื่องที่เกิดจากความไม่พร้อมในการทำหน้าที่ประเมินหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตึกแถว 4 ชั้น เจ้าหน้าที่ตีขลุมให้เป็นที่อยู่อาศัยชั้นเดียว ที่เหลือตีให้เป็นพื้นที่พาณิชย์คิดอัตราภาษีอีกเรตตามตร.ม. หรือตีเป็นพื้นที่ไม่ใช้สอยคิดภาษีอีกเรต
“เจ้าหน้าที่ไม่ทำงานแล้วมาตีว่าชั้น 2-3 ไม่ใช้ ชั้น 1 เพื่อพาณิชย์ ชั้น 4 ที่อยู่อาศัย แต่ความเป็นจริงชั้น 3 เป็นห้องรับแขก ชั้น 2 วางแทงค์นํ้าวางของใช้อื่นในบ้าน แล้วจะมาบอกร้างไม่ใช้สอยได้อย่างไร พออุทธรณ์สแกนคิวอาร์โค้ดไป ระบบก็ล่ม ก็ต้องเดินทางไปที่ทำการเขตอีกอยู่ดี โควิดก็กลัว” เสียงร้องเรียนจากเข้าของตึกแถวแห่งหนึ่งย่านราชวัตรผู้ได้รับจดหมายทวง ถามภาษี
และยังเป็นกรณีคล้ายที่ว่ากันนี้อีกหลายๆ เคส ที่เกิดขึ้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตกทม.ผู้รับผิดชอบงานด้านนี้ด้วยความเป็นงานใหม่ ไม่เคยทำมาก่อน แม้จะเป็นปีภาษีที่ 2 ที่ดำเนินการ ก็บอกว่าปัญหาเมื่อลงไปประเมิน ไปตรวจสอบแล้ว เจ้าของบ้านไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ให้เข้าตรวจพื้นที่ ทำงานไม่ทัน ก็เลยใช้วิธีประเมินตีขลุมแล้วให้อุทธรณ์มา
วิธีการนี้อยู่ในดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการรับอุทธรณ์และผ่อนปรนหรือไม่ อันที่จริงน่าจะมีวิธีการตรวจสอบและประเมินที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งผู้ถูกประเมินและผู้ประเมิน
นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการคำนวณภาษี ที่หยุมหยิมเกินไป ก็ควรที่จะต้องปรับปรุง เพราะกฎหมายเขียนไว้คลุมๆ แต่ระเบียบปฏิบัติก็ต้องไม่ตึงเป๊ะในการลงประเมินและต้องไม่ให้เป็นการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มากเกินไป เพราะจะนำไปสู่บ่อเกิดของการคอร์รัปชันตามมาอีกไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ต่างจากการ จับ ปรับ กรณีผิดกฎจราจรที่เปิดช่องให้มีการรีดไถ
“ต้องทบทวนวิธีปฏิบัติกันใหม่ ไม่ใช่ออกมาเพื่อลดเหลื่อมลํ้าตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแล้วแบบนี้ แต่ออกมาเพื่อฟันทุกเม็ดกับประชาชนไปทั่ว ความไม่พร้อมของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลายเป็นปัญหาซํ้าเติมประชาชน” เสียงของผู้ได้รับจดหมายทวงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะประกาศขึงขัง รัฐบาลมีนโยบายขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากปีที่ผ่าน โดยจะลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% และลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย (มท.) นำเสนอกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป
สำทับด้วย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในภาวะที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ด้วยการขยายมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น หากขยายมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% จะช่วยให้ประชาชนชำระภาษีเพียง 10% และลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01%
อาจเป็นความตั้งใจและมุ่งมั่นของรัฐ ในการช่วยประชาชน ในด้านการบรรเทาทุกข์โควิด-19
ด้วยการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
แต่เนื้อแท้หาได้อยู่ที่การลดหรือการจัดอีเวนต์โปรโมชั่นปีต่อปีไม่
เนื้อแท้ต้องกลับไปทบทวนแนวทางปฏิบัติการจัดเก็บและสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานขึ้นมามากกว่า
จะทำได้หรือไม่ ประชาชนเดือดร้อนไปทั่วแล้ว !!