คลาย "ล็อกดาวน์" ระยะ 4 ส่อยืด "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ถึงสิ้นก.ค.

28 พ.ค. 2563 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2563 | 11:01 น.

มติครม.เคาะต่ออายุการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมระบาดไวรัสร้าย “โควิด-19” เป็นครั้งที่ 3 ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ ยาวต่อไปอีก 1 เดือน ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 

ไม่รู้ว่าการต่อรอบ 4 จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่? อย่าลืมว่ายังมีกิจการ/กิจกรรมใหญ่ที่จ่อคิวเปิดทำการ รวมถึง 1 กรกฎาคม เป็นวันแรกที่นักเรียนทั่วประเทศเปิดเทอม กลับไปพบเจอเพื่อนฝูงและเรียนหนังสือท่ามกลางความกังวล-ห่วงใยของผู้ปกครอง ถ้าสังคม “การ์ดตก”

สายข่าวเล่าให้ฟังว่าในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ล่าสุด หารือล่วงหน้าไว้แล้วถึง “วันเปิดเทอม” 1 กรกฎาคม ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยอมรับกลางวงประชุมด้วยว่า เป็นห่วงภาพรวมเรื่องการดูแลเรื่องเว้นระยะห่างของเด็ก และห่วงใยไปถึงความแออัดในห้องเรียน ที่ลงรายละเอียดถึงสัดส่วนครูต่อนักเรียนในห้องเรียน เดิมใช้อัตราส่วน เด็ก 20 คน ต่อครู 1คน (20:1) ก็อาจจะต้องปรับให้เหลือเป็น นักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน (7:1) ซึ่งกระทรวงศึกษาฯ ก็รับไม้ไปวางรูปแบบกันต่อ

มีการถกเถียงถึงข้อเสนอที่ว่า นำ “พ.ร.บ.โรคติดต่อ” มาใช้แทน พ.ร.ก.ฉุนเฉิน จะดีกว่าไหม เพื่อกลับไปสู่ฟังก์ชันตามปกติให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก สอดรับกับตัวเลขติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

 

 

ข้อเสนอนี้ถูกตีตก ด้วย 3 เหตุผล ในการคงใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งรายงานโดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 

1.ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยการป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ จะต้องสามารถดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับทางด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค 

 

คลาย \"ล็อกดาวน์\" ระยะ 4 ส่อยืด \"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน\" ถึงสิ้นก.ค.

 

“ไม่ใช่แค่นำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผล ซึ่งไม่เพียงพอ ยังต้องมีการประกอบกฎหมายกว่า 40 ฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย  

2.การเตรียมรองรับในระยะต่อไป ประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริการจัดการ เพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม  

 

 

3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังคงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อในระดับที่สูง  และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นจะต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ อาทิ มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการณ์ เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจจะมีการกลับมาแพร่ระบาดของโรค  

3 เหตุผลของ สมช.พอจะมองเห็นภาพการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบ4 หรือไม่ ต้องชั่งใจจากข้อมูลด้านสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง สุขภาพ บวกกับบทเรียนต่างประเทศ ที่ตัดสินใจคลายล็อก แล้วเจอแจ๊กพอต ระบาดรอบใหม่ซํ้าสอง 

 

คอลัมน์ อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,578 หน้า 10 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม 2563