ท่ามกลางความอลหม่านของการบริหารจัดการวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 ที่เปลี่ยนไปมาจนคนสับสน แต่ข่าวประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ที่ให้อำนาจราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการนำเข้าเวชภัณฑ์ รวมถึงวัคซีนได้ ในภาวะฉุกเฉินการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้คนโล่งอกขึ้นระดับหนึ่ง
โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม ของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นวัคซีนที่เพิ่งได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย เพิ่งรับรองการขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มโอกาสการจัดหาวัคซีนเข้าประเทศ จากที่วัคซีนของแอสตรา เซเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่มีสัญญาทยอยส่งมอบเเดือนมิ.ย.นี้ ที่ยังไม่แน่ชัดจะเริ่มส่งมอบได้จริงวันไหน
ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลเอกชนร้องขอนำเข้าวัคซีนเอง เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากวัคซีนพื้นฐานที่ภาครัฐจัดหา แต่เนื่องจากเป็นภาวะวิกฤติโรคระบาดระดับโลก และที่นำมาใช้เป็นวัคซีนฉุกเฉิน ต้องซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ การจะนำวัคซีนเข้ามาใช้มีระเบียบกฎหมายควบคุม และต้องสั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องใช้เวลาดำเนินการ กว่าจะได้อย่างเร็วก็เป็นเดือนต.ค.นี้
ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ครั้งนี้ เป็นการ “บายพาส” เปิดช่องทางในการจะจัดหาวัคซีนเข้ามาใช้ในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เพิ่มเติมจากการจัดหาของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก สะท้อนถึงข้อจำกัดการรับมือในสถานการณ์วิกฤติที่จำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งต้องถอดบทเรียนเพื่อปฏิรูปเชิงโครงสร้างและกลไกในอนาคต
ส่วนการบริหารจัดการแผนการกระจายและบริการฉีดวัคซีนที่เปลี่ยนไปมาที่สร้างความสับสนนั้น ล่าสุดให้ชะลอการใช้แอปหมอพร้อมในการลงทะเบียนของประชาชน แต่ปรับเป็นศูนย์ข้อมูลการฉีดและติดตามผลแทน โดยผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วก็ให้ใช้ไปจนเสร็จสิ้น และให้จังหวัดเป็นผู้บริหารการจัดสรรวัคซีนเขตจังหวัดแทน โดยศปก.ศบค.จะจัดสรรให้จากจำนวนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาดหรือโซนสี ควบคู่ไปกับการจัดสรรให้กลุ่ม-องค์กรขนาดใหญ่ เป็น พนักงานลูกจ้าง สถาบันการศึกษา คนต่างด้าว ทูต-ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปรากฎการณ์เปิดลงทะเบียนรับคิวผ่านค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อไปรับการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามและเต็มโควตาอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงความต้องการรับการฉีดวัคซีนอย่างสูง ที่น่าเป็นห่วงคือ หากเปิดลงทะเบียนจองคิวโดยยังไม่มีวัคซีนในมือแล้วต้องปรับแก้ภายหลัง จะซ้ำรอยการเปลี่ยนนโยบายไปมา
เรื่องเอกภาพการบริหารงานนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นถึงความสำคัญและจำเป็น จึงได้รวมศูนย์การบริหารจัดการวัคซีนไว้เองและให้ฟังจากศอบ.เป็นหลัก แต่ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ที่ข่าวสารท่วมท้น จึงยังมีความสับสนและเข้าใจไม่ตรงกันอยู่มาก ถึงเวลานายกฯต้องเป็นผู้นำในการสยบวิกฤติวัคซีน เริ่มจากการสร้างความกระจ่างแผนบริหารจัดการวัคซีนล่าสุด ให้ประชาชนเข้าใจและพร้อมเดินหน้าสู่อนาคต