"หัวเว่ย"เดือด โต้สหรัฐป่วนซัพพลายเชน หวังฮุบตลาด

18 พ.ค. 2563 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2563 | 06:15 น.

ผู้บริหารของ “หัวเว่ย” ออกมายอมรับว่า มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจของบริษัทเต็มๆ แบบไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

นายริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำกลุ่มธุรกิจ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสิเนส กรุ๊ป เปิดเผยผ่านทางบัญชี “วีแชท” ซึ่งเป็นแอปส่งข้อความของจีนว่า การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกากดดันให้บริษัททั่วโลกร่วมแบนการส่งออก “ชิป” หรือ “เซมิคอนดัคเตอร์” ให้กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ โดยหวังสกัดหัวเว่ยฯ ออกจากห่วงโซ่อุปทานนั้น มีจุดประสงค์เดียวก็คือ เพื่อให้สหรัฐฯครองอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกต่อไปแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มีเหตุผลด้านความมั่นคงอย่างที่อ้างไว้

ริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำกลุ่มธุรกิจ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสิเนส กรุ๊ป

"เหตุผลด้านความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น สหรัฐฯกีดกันหัวเว่ยเพราะกลัวว่าบริษัทจากจีนจะเข้ามาครองอำนาจทางเทคโนโลยีแทนบริษัทสหรัฐฯ”

 

ความพยายามล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งกระทำผ่านทางกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 พ.ค.) มีเป้าหมายเพื่อจำกัดการจำหน่ายชิปของบรรดาบริษัทผู้ผลิตนานาชาติให้กับหัวเว่ย ซึ่งการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่างรวมทั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมที่หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตนั้น จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจของหัวเว่ย และหากคิดเป็นความสูญเสียด้านรายได้ก็แตะระดับหลายพันล้านดอลลาร์ เนื่องจากบริษัทต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศอยู่มาก และไม่อาจหาทางเลือกใหม่ได้ในระยะเวลาสั้นๆ

 

“การตัดสินใจของสหรัฐฯในครั้งนี้ เป็นการกระทำโดยพลการฝ่ายเดียว และเป็นอันตรายคุกคามต่อทั้งอุตสาหกรรมทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจ การซ่อมบำรุง และการปฏิบัติงานของเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ที่หัวเว่ยได้ปูพรมติดตั้งไปแล้วในมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก” ผู้บริหารของหัวเว่ยระบุ และยอมรับว่า แรงบีบจากสหรัฐฯในครั้งนี้ส่งผลต่อธุรกิจของหัวเว่ยอย่าง “ไม่อาจหลีกเลี่ยง”  

ทีเอสเอ็มซี (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ป้อนให้กับหัวเว่ย เป็นบริษัทไต้หวัน

“เซมิคอนดัคเตอร์” กล่องดวงใจหัวเว่ย ในเงื้อมมือสหรัฐ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกให้กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อหัวเว่ยซึ่งถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำอยู่แล้วโดยสหรัฐฯอ้างว่าหัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯระบุว่า บริษัทต่างชาติที่ใช้อุปกรณ์ผลิตชิปของสหรัฐฯจะต้องขอใบอนุญาตจากสหรัฐฯ ก่อนที่จะทำการขายชิปหรือเซมิคอนดัคเตอร์ที่ผลิตได้นั้นให้กับหัวเว่ย และนั่นหมายความว่า สหรัฐฯอาจพิจารณาไม่อนุญาตก็ได้ ซึ่งเท่ากับว่า หัวเว่ยจะได้ใช้ชิปแบบไหนอย่างไร จะมีสหรัฐเป็นผู้กุมชะตา และตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้หรือไม่ให้ใช้

  

รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถือว่า หัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5G นั้น เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ โดยเชื่อว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์  แต่หัวเว่ยก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นมาโดยตลอด

 

แรงบีบล่าสุดของสหรัฐฯนี้ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับหัวเว่ย เนื่องจากชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างมากในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ตั้งแต่สถานีฐาน (station base) ที่ต้องใช้ในเครือข่าย5G ไปจนถึงโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แม้ว่าหน่วยงานที่ออกแบบชิปหรือเซมิคอนดัคเตอร์ที่หัวเว่ยจำเป็นต้องใช้นั้นจะเป็นบริษัทที่ชื่อ “ไฮซิลิคอน” (HiSilicon) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของหัวเว่ยเอง แต่การผลิตชิปเหล่านั้น เกิดขึ้นที่โรงงานของบริษัทไต้หวันที่ชื่อ ทีเอสเอ็มซี (TSMC) และทีเอสเอ็มซีก็ใช้อุปกรณ์ผลิตชิปของบริษัทอเมริกัน นั่นหมายความว่า บริษัทต้องขออนุญาตสหรัฐก่อนที่จะขายชิปที่ผลิตได้ให้กับหัวเว่ย

 

นอกจากนี้ ในแผนกผลิตสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย แทบจะทุกรุ่นยังใช้ชิปยี่ห้อ “คิริน” (Kirin) ซึ่งมากกว่า 98% ผลิตโดยบริษัททีเอสเอ็มซี เห็นอย่างนี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า ผลกระทบจากแรงบีบของสหรัฐฯครั้งล่าสุดนี้ หนักหน่วงแค่ไหน

 

สื่อต่างประเทศระบุว่า แผนกผลิตสินค้าสำหรับคอนซูมเมอร์ทั่วไป ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟนนั้น ทำรายได้ให้กับหัวเว่ยเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่ง (กว่า 50%) ของรายได้ทั้งหมดในปีที่ผ่านมา (2562) และทำยอดขายราว 467,300 ล้านหยวน หรือกว่า 66,930 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราว 2.15 ล้านล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม สหรัฐเปิดศึกจีน เล่นงาน "หัวเว่ย" อีกรอบ

 

สร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์ในประเทศไม่ทัน

ทางออกของหัวเว่ยคือ บริษัทต้องพยายามกระจายซัพพลายเชนออกไป และลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์จากต่างประเทศ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หัวเว่ยพยายามทำตลอดช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังทำได้ไม่มากนัก

 

นายทิม แดงส์ ผู้บริหารของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า หัวเว่ยได้จำหน่ายสถานีฐานที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯเลย จำนวน 50,000 ชุด แต่จำนวนดังกล่าวก็เป็นสัดส่วนเพียง 8% ของสถานีฐานที่บริษัททำยอดขายไปแล้วทั่วโลก อุปกรณ์ดังกล่าวมีความสำคัญสำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 5G

 

และแม้ว่าหัวเว่ยจะพยายามมอบหมายให้โรงงานผลิตในจีนดูแลการผลิตชิป “คิริน” สำหรับใช้ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยให้มากขึ้น เช่น ชิปคิรินรุ่น 710A ผลิตโดยบริษัท เอสเอ็มไอซี (SMIC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีน แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาให้กับหัวเว่ย เพราะชิปที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ก็ใช้กับสมาร์ทโฟนรุ่นราคาประหยัดของหัวเว่ยที่วางจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “อาเนอร์” (Honor) เท่านั้น ส่วนชิปที่มีความเหนือชั้นด้านเทคโนโลยีมากกว่า หัวเว่ยก็ยังคงต้องพึ่งพาบริษัททีเอสเอ็มซีในไต้หวันเป็นหลัก เช่น ชิปคิริน990 ที่ขนาดเล็กกว่าแต่ทำงานได้ไวกว่า หัวเว่ยมอบหมายให้ทีเอสเอ็มซีเป็นผู้ผลิตมา 2 ปีกว่าแล้ว

 

หากเกิดปัญหาที่ทำให้ทีเอสเอ็มซีไม่สามารถส่งมอบชิปให้กับหัวเว่ย (ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่ของสหรัฐฯ) นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้ผลิตของจีนเองอย่างเอสเอ็มไอซี จะยังไม่สามารถผลิตชิปที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงในปริมาณมากเท่าที่ทีเอสเอ็มซีทำได้ และนั่นก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหัวเว่ย

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 พ.ค.) นิคเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า บริษัท ทีเอสเอ็มซี ของไต้หวัน ได้ระงับการรับคำสั่งซื้อชิปล็อตใหม่จากหัวเว่ยแล้ว  ขณะที่โฆษกของบริษัทออกมาเปิดเผยเพียงว่า นั่นเป็นข่าวลือ และบริษัทก็ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งซื้อของลูกค้า

 

นีล ชาห์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัท เคานเตอร์พอยท์ รีเสิร์ช ให้ความเห็นว่า หัวเว่ยอาจจำเป็นต้องหันไปพึ่งพาโรงงานผลิตชิปของซัมซุง แต่นั่นก็อาจเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยหัวเว่ยน่าจะมองหาทางออกและความช่วยเหลือจากบริษัทผู้ผลิตชิปภายในประเทศจีนก่อน เพราะซัมซุงมีสินค้าที่เป็นคู่แข่งกับหัวเว่ยโดยตรง และการที่ซัมซุงเป็นบริษัทเกาหลีใต้ ก็อาจจะตีความได้ว่าโดยทางเทคนิคแล้วก็น่าจะเป็นพันธมิตรอยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกา  ดังนั้น ในระยะสั้นถึงระยะกลาง หัวเว่ยจะยังได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากเรื่องนี้เพราะยังไม่สามารถหาแหล่งผลิตที่ไม่ใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯมาทดแทนได้ทัน
 

รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ถือว่า หัวเว่ยเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ

ยกระดับความตึงเครียดระหว่างประเทศ

โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกมาคัดค้านมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งล่าสุดของสหรัฐฯแล้ว โดยโฆษกจีนระบุว่า ที่ผ่านมาสหรัฐฯได้ใช้อำนาจรัฐในการคุกคามและจำกัดสิทธิบริษัทต่างชาติ โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติและการควบคุมการส่งออก มาโดยตลอด ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดหลักการตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรม เพิกเฉยต่อกฎพื้นฐานทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

 

“ จีนเรียกร้องให้สหรัฐฯยุติการกระทำดังกล่าวทันที ส่วนจีนจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทจีน” แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุ

 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาคัดค้านมาตรการควบคุมการส่งออกครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าเจาะจงไปยังบริษัทหัวเว่ย โดยระบุว่า "การกระทำดังกล่าวนอกจากจะทำลายผลประโยชน์ ทั้งของบริษัทจีนและบริษัทสหรัฐฯแล้ว ยังทำลายผลประโยชน์ของอีกหลายบริษัทในประเทศอื่น ๆ ด้วย"

 

ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ซึ่ งเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานเมื่อวันศุกร์ว่า จีนกำลังวางแผนที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการประกาศรายชื่อบริษัทของสหรัฐฯ ในบัญชี "องค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ" พร้อมทั้งจะพิจารณามาตรการตอบโต้อื่น ๆ ที่จะมุ่งเป้าไปที่บริษัทอเมริกัน อาทิ การสอบสวน การกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อใช้กับบริษัทของสหรัฐฯ เช่น บริษัท แอปเปิล อิงค์ หรือการระงับคำสั่งซื้อเครื่องบินจากบริษัท โบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นต้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Why new U.S. rules on selling chips to Huawei could be a ‘big blow’ for the Chinese tech giant

US government wants to stifle Huawei, says Huawei consumer devices chief