เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 นาย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางอังเกลา แมร์เคิลนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้หารือร่วมกันผ่านทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ และได้แถลงข่าวประกาศข้อริเริ่มฝรั่งเศส - เยอรมนี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอียู หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด -19 ( covid-19 )
สำหรับแผนฟื้นฟู จะประกอบไปด้วย 4 ข้อหลักได้แก่ 1. การตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 5 แสนล้านยูโร เพื่อสมทบงบประมาณอียู โดยผลักดันให้ คมธ. ยุโรปเป็นผู้กู้ยืมเงินในนามของอียู และอัดฉีดเงินช่วยเหลือกิจการสาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในยุโรป โดยจะเป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินกู้ประเภทต่าง ๆ ผ่านธนาคารกลางยุโรปตามที่ รมว.คลังของอียูได้ตกลงร่วมกันแล้วเป็นเงินอีก 5 แสนล้านยูโร
2.การดำเนินการด้านสาธารณสุขระดับอียู อาทิ การมีสต็อกอุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกัน การสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและวัคซีนร่วมกัน และการเตรียมมาตรการต่าง ๆ ทางสาธารณสุขร่วมกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ( covid-19 ) และเพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ ถึงแม้ว่าอียูจะไม่ได้มีอำนาจในด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน แต่ประสงค์ผลักดันให้อียูมีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคต
3. ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านดิจิตัล ต้องคำนึงถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือวิกฤติโควิด -19 (covid-19 )รวมทั้งจะต้องเร่งดำเนินการให้สามารถบรรลุเป้าหมายของข้อตกลง Green Deal และเร่งให้มีเครือข่าย 5G ในยุโรป พร้อมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่สามารถเสริมสร้างความมั่นคงด้าน cyber security และมีกรอบที่เอื้ออำนวยต่อการใช้ A.I. และกรอบ กม. ที่เป็นธรรมต่อ digital platform ในยุโรป
4. การเสริมสร้างอธิปไตยทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของอียู เพื่อลดภาวะพึ่งพาต่างประเทศ เกี่ยวกับสินค้ายุทธศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ ยา โดยจะต้องเพิ่มการปกป้องกิจการเอกชนอียูจากการลงทุนแบบหวังแต่ผลกำไร (les investissements prédateurs) ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญกลับมายังอียู (โดยเฉพาะแบตเตอรี่) และสามารถสนับสนุนภาคเอกชนอียูในสาขาที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ให้สามารถแข่งขันในโลกได้
ขณะที่การปิดพรมแดนภายในและภายนอกอียู ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ระบุว่า ฝรั่งเศสปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรปในการปิดพรมแดนต่อบุคคลนอกอียู จนถึงวันที่ 15 มิ.ย.2563 ซึ่งจะต้องพิจารณาพัฒนาการของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ภายในอียูและทั่วโลกหลังจากนี้ด้วยว่าจะยังคงมีความจำเป็นต้องปิดพรมแดนต่อบุคคลนอกอียูออกไปอีกหรือไม่
สำหรับพื้นที่เขตเชงเก้น (Schengen ) นั้น ฝรั่งเศสจะพิจารณาบังคับใช้มาตรการแบบต่างตอบแทนเป็นรายประเทศ อาทิ กรณีสเปนกำหนดให้มีการกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งฝรั่งเศสก็จะกำหนดให้มีการกักตัวเช่นกัน หรือในกรณีอิตาลีที่ไม่บังคับให้มีการกักตัว ฝรั่งเศสก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามิใช่ทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และเชื่อว่าที่จริงแล้วประเทศต่าง ๆ ในยุโรปต่างมีมาตรการทางสาธารณสุขที่ใกล้เคียงกัน
ที่มาข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส