นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียชี้ สงครามเย็น ระหว่าง สหรัฐและจีน คุกคามโลกยิ่งกว่า โควิด-19
นายเจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผย สงครามเย็น ระหว่าง สหรัฐอเมริกาและจีน ที่หยั่งรากลึกมากยิ่งขึ้นนั้น จะกลายเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับโลกยิ่งกว่าไวรัส โควิด-19
“โลกกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนครั้งใหญ่โดยปราศจากความเป็นผู้นำภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัส ความแตกแยกของประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ จะยิ่งเร่งให้เกิดภาวะปั่นป่วนมากยิ่งขึ้น” แซคส์กล่าวและว่า รัฐบาลสหรัฐเป็น “ต้นตอ” ของท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ของทั้ง 2 ประเทศ
“สหรัฐเป็นพลังแห่งความแตกแยก ไม่ใช่พลังแห่งความร่วมมือ ด้วยความพยายามที่จะสร้าง สงครามเย็น ครั้งใหม่กับจีน และหากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป เราจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนดังเดิมได้อีก เราจะพบกับความขัดแย้งและอันตรายที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น”
การแสดงความเห็นดังกล่าวของศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ แซคส์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เกิดขึ้นในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงเกิดขึ้นในหลาย ๆ ด้าน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในกฎหมายให้อำนาจสหรัฐคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่จีนที่รับผิดชอบการปราบปรามชาวมุสลิมในมณฑลซินเจียง โดยกระทรวงการต่างประเทศของจีนเองก็ได้ออกมาคัดค้านท่าทีของสหรัฐอย่างเดือดดาลเพราะจีนมองว่าความพยายามของสหรัฐในเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงนโยบายป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายซึ่งเป็นกิจการภายในประเทศของจีน
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอีกเช่นกันที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ออกมาขู่จะ “ตัดสัมพันธ์” กับจีนโดยสิ้นเชิงแม้ว่าก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งวัน นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เพิ่งจะบินไปเจรจากับผู้แทนระดับสูงฝ่ายจีนที่ฮาวายและได้คำมั่นสัญญาจากจีนติดมือกลับจากการเจรจาว่า จีนจะเร่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐให้มากตามที่ทำสัญญากันไว้ในข้อตกลงการค้าเฟส1 ข่าวดีดังกล่าวทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขานรับ แต่เพียงข้ามวันเท่านั้น ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ที่แสดงความกราดเกรี้ยวต่อจีนก็ทำให้เกิดความสับสนว่าตกลงสหรัฐจะปรองดองหรือจะตัดสัมพันธ์กับจีนกันแน่ สัญญาณที่ส่งออกมาจากสหรัฐนั้นช่างสับสนปนเป และทำให้เกิดความไม่แน่นอน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนได้ถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโคโรนา “โควิด-19” ที่เริ่มขึ้นในจีนเมื่อช่วงสิ้นปี 2562 ได้ลุกลามไปทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์และคณะบริหารของเขากล่าวหารัฐบาลปักกิ่งครั้งแล้วครั้งเล่าว่า จีนเป็นต้นเหตุของหายนะระดับโลกในครั้งนี้ ทั้งยังไม่มีความโปร่งใสเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคตั้งแต่ต้น ทรัมป์ถึงกับเคยเอ่ยปากเรียกไวรัสต้นเหตุความปั่นป่วนนี้ว่า “ไวรัสจีน” ซึ่งเรียกเสียงประท้วงคัดค้านจากจีนในทันที และแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ยังออกมาแย้งว่า ไม่ควรเรียกชื่อไวรัสจากสถานที่ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาด
ไม่เพียงเท่านั้น ปมขัดแย้งนอกเหนือจากเรื่องไวรัสโควิด-19 ยังตามมาด้วยประเด็นที่จีนให้การรับรองกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติใหม่ฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้กับฮ่องกงภายในปีนี้ เรื่องดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐเริ่มกระบวนทบทวนสถานะของฮ่องกงเสียใหม่ และประกาศจะตัดสิทธิพิเศษที่สหรัฐเคยให้กับฮ่องกง ท่าทีของสหรัฐได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายประเทศรวมทั้งอังกฤษ และพันธมิตรในกลุ่มจี7
ทรัมป์ได้ทำให้ความสัมพันธ์ถดถอยอย่างชัดเจนในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาเมื่อเขากล่าวว่า ไม่สนใจที่จะหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในช่วงเวลานี้ แม้จะยอมรับว่า สีเป็นเพื่อนคนหนึ่งของเขา แต่สุดท้ายแล้ว เขาก็อาจจะตัดสัมพันธ์กับจีน
เดวิด สติเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ดูแลภาคพื้นเอเชียตะวันออก กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศถือว่า “ตึงเครียด” นอกจากนี้ ในการหารือที่ฮาวายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) ก็เห็นได้ชัดว่าจีนไม่ค่อยเต็มใจนักกับการหารือในบางประเด็น “การกระทำของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับอินเดีย ทะเลจีนใต้ และเกี่ยวกับฮ่องกง ไม่สร้างสรรค์ และรัฐบาลวอชิงตันหวังว่าจะได้เห็นจีนพิจารณาใหม่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จะนำมาบังคับใช้กับฮ่องกง” นายสติเวลล์กล่าวและว่า ในส่วนที่จีนได้ให้คำมั่นว่าจะทำตามข้อตกลงการค้าและจะพยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นเรื่องหนึ่งที่มีแนวโน้มเชิงบวกว่าอาจจะมีความร่วมมือกันได้ แต่สหรัฐก็จะจับตาดูว่าภายในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า จีนจะเริ่มทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้หรือไม่ หรือจะใช้เวลานานเท่าไหร่
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนออกมายืนยันว่า ในขณะที่มีการทำงานเพื่อซ่อมแซมความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐนั้น รัฐบาลวอชิงตันจำเป็นต้องเคารพท่าทีของจีนในปัญหาสำคัญ ๆ และต้องหยุดแทรกแซงในเรื่องฮ่องกง ไต้หวัน และซินเจียง
นักวิเคราะห์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่สหรัฐมักจะหาประเด็นโจมตีจีนในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี (ซึ่งในปีนี้ การเลือกตั้งกำลังจะมีขึ้นในเดือนพ.ย.) ประเด็นเกี่ยวกับจีนมักจะถูกหยิบยกมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งอยู่เสมอ แต่การโจมตีจีนโดยประธานาธิบดีทรัมป์และคณะทำงานของเขาในระยะหลัง ๆนี้ ถือว่าถี่ขึ้นและแรงขึ้น จนหลายครั้งก็เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายและย้อนแย้งกับความพยายามของคณะทำงาน เช่นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ เพิ่งแถลงต่อกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า เขาไม่คิดว่าการตัดขาดจากจีนเป็นทางเลือกนโยบายที่มีเหตุผลในขณะนี้ แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียว ทรัมป์ก็ออกมาทวีตว่า สหรัฐยังคงมีทางเลือกนโยบายอย่างแน่นอนที่จะ “ตัดขาดจากจีนโดยสิ้นเชิง”
ข้อมูลอ้างอิง
US China cold war 'bigger global threat than virus'