นักวิจัยไทยผู้คิดค้น“วัคซีนโควิด -19”

20 มิ.ย. 2563 | 02:05 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มิ.ย. 2563 | 09:07 น.

ขณะที่ไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 กลายเป็นภัยคุกคามคนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ในวิกฤติครั้งนี้ ได้ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพทางการแพทย์ไทย ว่าไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติใดของโลก แต่ในวิถีการต่อสู้กับโรคร้าย การมีความสามารถอย่างเดียว ก็ไม่อาจไปรอด บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสายงานวิทยาศาสตร์ ผ่านโครงการทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 จากโครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

หนึ่งในสาม ของนักวิจัยสตรี ที่ได้รับทุนในครั้งนี้ คือ “รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์” นักวิจัยภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับทุนในงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากลอรีอัล

สำหรับงานวิจัยของ อ.อรุณี มีมากมายเพราะท่านคือหนึ่งในทีมนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยในสถาบันต่างๆ ศึกษาวิจัยเพื่อควบคุมโรคโควิด19 โดยสามารถเพาะแยกเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 และเลี้ยงเชื้อในห้องแลป BSL3 ได้ตั้งแต่ระยะแรกของการระบาดในประเทศไทย และมีส่วนในโครงการวิจัยโรค COVID-19 ได้แก่ 1.การพัฒนาวิธีตรวจเซรุ่ม เพื่อทดสอบ neutral izing antibody ลบล้างฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันได้ตรวจหาระดับแอนติบอดี้ลบล้างฤทธิ์ในเลือดของผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง ทั้งยังนำศักยภาพของห้องปฏิบัติการ BSL 3 หรือห้องปฏิบัติการชีวะนิรภัยระดับ 3 มาช่วยในขั้นตอนการพัฒนาชุด RT-LAMP ใน early develop ment stage

รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์

รวมถึงให้คำปรึกษาในกระบวนการบ่มเพาะเทคโนโลยีกับบริษัทสตาร์ตอัพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ ยังทำการพัฒนาแพลตฟอร์มการคัดกรองยาต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยใช้เทคนิคอิมมูโนฟลูออเรสเซนส์ โดยการสกัดสมุนไพรไทย และการพัฒนาวัคซีนอาร์เอนเอ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 รวมไปถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทั้งจากไวรัสที่พบในรายงานทั่วโลกและจากประเทศไทย

“อ.อรุณี” บอกว่า แลปที่คณะวิทยาศาสตร์ทำงานเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงใหม่ๆ อยู่แล้ว เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนกรวมถึงไวรัสโควิด -19 ที่มีความรุนแรง ซึ่งเชื้อเหล่านี้ต้องทำงานกับห้องแลปที่มีลักษณะพิเศษ นอกจากนี้ ยังมีงานวินิจฉัยการรักษา การวิจัยยา และเรื่องการป้องกัน คือการวิจัยวัคซีน

อีกส่วนคือ การใช้เลือดของคนที่หายแล้ว ไปให้อีกคนหนึ่ง ก็ต้องดูว่าเลือดเขามี neutralizing antibody มากหรือน้อย แต่ละคนมีไม่เท่ากัน และ neutralizing antibody นี้จะลดลงเรื่อยๆ หลังจากหาย แรกๆ จะดี แต่ถ้าทิ้งไว้นาน ระดับมันก็จะลดลงด้วย สภากาชาดไทยจึงพยายามเรียกคนที่เคยเป็นมาเจาะเลือด มาตรวจ และเก็บไว้ เพื่อใช้เป็นสต๊อก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับในไทยแม้แนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่า มันจะเกิดเวฟ 2 อีกหรือไม่ เพราะฉะนั้น การค้นคว้าวิจัยวัคซีน ยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้มีหลายสถาบันที่ดำเนินการ และทีมที่น่าจะทำได้เร็วสุด น่าจะเป็นทีมจุฬาฯ ซึ่งทีม “อ.อรุณี” ก็ช่วยทดสอบอยู่ด้วยเช่นกัน ความคืบหน้า คือ กำลังจะเริ่มทดลองในสัตว์ ภายใน 1-2 อาทิตย์นี้

ส่วนงานวิจัยยา ที่มีการนำสมุนไพรมาสกัด พบว่าจากการตรวจคัดกรองสารสกัดสมุนไพรไทยในคลังศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยาจำนวนกว่า 120 ตัวอย่าง “สารสกัดจากกระชายขาว” และสารสำคัญ 2 ชนิด มีศักยภาพในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ SARS-CoV-2 ได้เกือบ 100% และยังมีอีกหนึ่งสมุนไพรที่ได้ผลดีคือ ฟ้าทะลายโจร

“อ.อรุณี” บอกอีกว่า นักวิทยาศาสตร์ไทยไม่ได้ด้อยกว่าใคร เทคโนโลยีที่ใช้ก็เช่นกัน อย่างงานวิจัยกระชายขาวใช้เวลาเพียงแค่ 2 เดือน ถือว่าเร็วมาก

“พอได้ยาแล้ว ถ้ายาตัวไหนออกฤทธิ์ที่ดี ก็เอาไปทดสอบในหนู หลังจากนี้ เราต้องไปดูว่าจากหนู เราต้องไปเช็กความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ถ้าได้ผลเราจะไปทดลองในคน เราจะไปหาฟาร์ม ปลูกกระชายขาว แล้วให้นักเคมีช่วยสกัดสาร แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา การจะไปทดสอบในคนได้ ต้องได้รับการอนุญาตจากกรรมการจริยธรรม น่าจะราวๆ 8-10 เดือน หลังจากทำได้”

หลายๆ การวิจัย มีเงื่อนไขของเวลา กระบวนการทำงาน รวมถึงอุปกรณ์ และเงินทุน ซึ่งทุนสนับสนุนจากลอรีอัล “อ.อรุณี” จะนำไปช่วยงานวิจัยหลายๆ ส่วน แต่ก็ยังขาดเงินทุนอีกมาก และที่สำคัญที่สุด หากไม่มีคนป่วยจากโควิด-19 ก็ไม่รู้จะไปทดสอบอย่างไร และถ้ามีคนป่วยจะยินยอมให้ใช้สารที่ทดสอบไหม 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563