แม้การเปิดประเทศให้คนสัญจรข้ามไปมาระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านจะเริ่มแล้ว ยกเว้นเพียงด่านพรมแดนด้านตะวันตก ที่เมียนมายังไม่พร้อมเปิดด่านให้คนเข้าออก การผ่อนมาตรการเพิ่มส่งผลต่อบรรยากาศที่ยิ่งเปิดกว้างในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ปัจจัยบวก เมื่อเพื่อนบ้านเริ่มส่งสัญญาณ “ติดไข้” เศรษฐกิจโลก ที่อักเสบจากเหตุสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ที่ฉุดเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นให้ชะลอตัวลง ควบคู่กับการพุ่งขึ้นของราคานํ้ามันและธัญพืช จนเงินเฟ้อระบาดไปทั่วโลก ซํ้าเติมเศรษฐกิจที่บอบชํ้าจากโควิด-19 ยังไม่ทันฟื้นให้ทรุดลงอีก ประเทศเศรษฐกิจเปราะบางออกอาการจับไข้
ล่าสุด ธนาคารกลางเมียนมาสั่งระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศทุกรูปแบบ สะท้อนว่ากำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก ต้องเร่งสงวนเงินตราต่างประเทศไว้ซื้อนํ้ามันซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายนิตย์ อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง ขยายความว่า หนังสือจากแบงก์ชาติเมียนมาดังกล่าว มีนายวิน ทอ รองผู้ว่าการฯเป็นผู้ลงนาม ส่งถึงธนาคารทีี่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการให้ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยสั่งให้ผู้กู้ยืมระงับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นที่กู้จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะในรูปของเงินสด หรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม และธนาคารต้องแจ้งลูกค้าธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศ ต้องปรับแผนการชำระเงินที่กู้ยืมมาจากต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ทางการเมียนมา สั่งจำกัดการนำเข้าสินค้าบาง รายการ อาทิ รถยนต์ นํ้ามันเชื้อเพลิง นํ้ามันพืช สินค้าฟุ่มเฟือย เพื่อรักษาปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศที่ร่อยหรอลงไว้
รวมทั้งให้ผู้มีรายได้เป็นเงินต่างประเทศ ต้องแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าด ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าด/ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนเม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่น
ทั้งนี้ หลังการยึดอำนาจ รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งคุมเข้ม ระเบียบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินจ๊าดอ่อนลงถึง 1 ใน 3 เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปีที่แล้วเป็น ผลจากการที่เงินตราต่างประเทศที่เป็นทุนสำรองของเมียนมาซึ่งเก็บไว้ที่สหรัฐ ได้ถูกระงับการเบิกถอน การถูกควํ่าบาตรระงับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสองแหล่งที่นำเงินตราต่างประเทศให้เมียนมา
คำสั่งใหม่จะกระทบการค้าชายแดนด้านด่านระนอง-เกาะสองมากน้อยเพียงใดนั้น นายนิตย์กล่าวว่า ต้องรอออเดอร์ สั่งซื้อสินค้ารอบใหม่ที่จะเข้ามา ว่ายอดสั่งซื้อลดลงมากน้อย เพียงใด เพราะมาตรการที่ออกมาต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดในทางปฎิบัติ แต่ยังดีที่ ทางการเมียนมายังให้ใช้เงินบาทหรือเงินหยวนในการค้าชายแดน
ขณะที่นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ นักธุรกิจค้าชาย แดนไทย-เมียนมา และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ความผันผวนของค่าเงินจ๊าดทำให้เวลานี้การค้าชายแดนข้ามไปเมืองเมียวดีแทบจะทำไม่ได้ ซํ้าเติมภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มพุ่งสูงขึ้น สินค้ามีราคาแพง ขณะที่ ค่าเงินที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดมืดกับตลาดทางการแตกต่างกันสูงมาก
“รัฐบาลเมียนมาเริ่มบีบให้ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯทำการค้าตามแนวชายแดน เนื่องจากกำลังขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก ต้องการดอลลาร์สหรัฐไปชำระหนี้ รวมถึงนำไปซื้อนํ้ามันมาใช้ภายในประเทศ กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกับศรีลังกา”
ขณะที่สปป.ลาว ก็เจอพิษเศรษฐกิจโลกเช่นกัน โดยเมื่อกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา เกิดปรากฎการณ์ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตรา รวมถึงเคาน์ เตอร์แบงก์ในกรุงเวียงจันทน์งดแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ จากสถานการณ์เงินกีบลาวอ่อนค่าหนักเกือบ 70% จาก 100 บาท แลกได้ 30,000 กีบ เมื่อต้นปี อ่อนค่าลงมาเป็นแลกได้ 50,000 กีบ
เนื่องจากในสปป.ลาวเกิดการขาดแคลนเงินบาทและดอลลาร์อย่างหนัก ขณะที่มีความต้องการเงินบาทกันมาก เพื่อนำมาใช้ซื้อขายสินค้ากับ ไทย กดดันให้เงินกีบลาวอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ
แต่การเร่งเปิดประเทศรับคนเข้ามาท่องเที่ยวของทางการสปป.ลาว โดยมีเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นแม่เหล็กดึง ดูดคนเดินทางไปท่องเที่ยวใน สปป.ลาวเพิ่มขึ้น เป็นการดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศ ช่วยลดแรงกดดันปัญหาค่าเงินกีบให้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง
ไข้เศรษฐกิจในเพื่อนบ้าน แม้ไม่ถึงกับฉุดการค้าชายแดนที่กำลังทะยานให้สะดุดหยุดลง แต่ก็รั้งให้ชะลอความร้อนแรงไม่ให้ถึงขีดสุด ส่งสัญญาณเตือนให้ระวัง ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ในทุกโอกาส การเข้มแข็งถ้วนหน้าและก้าวเดินร่วมกันจึงจะมั่นคงที่สุด
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,803 วันที่ 24-27 กรกฎาคม พ.ศ.2565