"กรุงศรี"ชี้ Evergrande เบี้ยวหนี้ ไม่กระทบพอร์ตเหตุมีสัดส่วนลงทุนต่ำ

22 ก.ย. 2564 | 02:58 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2564 | 10:06 น.

กองทุนกรุงศรี แจง“Evergrande” ผิดนัดชำระหนี้ ไม่กระทบกองทุนภายใต้การบริหาร เหตุมีสัดส่วนการลงทุนระดับต่ำ ชี้ กรณีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเสี่ยงที่กระทบทั้งตลาด แนะนักลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นสูงได้ สามารถถือการลงทุนต่อได้

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (กองทุนกรุงศรี) ระบุว่า กรณี Evergrande ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำขาดสภาพคล่อง และอาจต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นผลจากการควบคุมหนี้ที่เข้มงวดขึ้นของจีน ซึ่งไม่ได้เกิดจากภาพอุตสาหกรรมที่ไม่ดีทั้งระบบ ปัญหาดังกล่าวจึงมีผลกระทบต่อภาพรวมแบบจำกัด

โดยจีนได้ออกนโยบาย “3 Red Lines” เพื่อควบคุมนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ลดหนี้ และมีงบดุลที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ให้มีความแข็งแกร่งในอนาคต แต่บริษัทที่มีหนี้สูงอยู่แล้ว จะไม่สามารถหาสภาพคล่องในระยะสั้น และอาจจะต้องล้มละลายไปด้วย

ทั้งนี้ กองทุนของ บลจ.กรุงศรี มีสัดส่วนการลงทุนใน Evergrande ที่ต่ำ ได้แก่

  • กรุงศรีเอเชียนไฮยิลด์บอนด์-สะสมมูลค่า (KFAHYBON-A) มีสัดส่วนลงทุน 1.70%
  • กองทุนกรุงศรีโกลบอลมัลติแอสเซทอินคัมเฮดจ์เอฟเอ็กซ์ (KFMINCOM) มีสัดส่วนลงทุน 0.32%
  • กองทุนกรุงศรีไชน่าเมกะเทรนด์-สะสมมูลค่า (KFCMEGA-A) มีสัดส่วนลงทุนขั้นต่ำ 0.26%
  • กรุงศรีไชน่าอิควิตี้ (KF-CHINA) มีสัดส่วนลงทุน 0.07%

สำหรับทิศทางระยะสั้น ตลาดได้รับแรงกดดันจากข่าวดังกล่าว นักลงทุนที่รับความผันผวนระยะสั้นสูงได้ สามารถถือการลงทุนต่อได้

"ประเด็น Evergrande กดดันตลาดมาโดยตลอดช่วง 3-4 เดือน โดยตลาดรับรู้ปัญหาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และการปรับลดอันดับเครดิต (Credit Rating Downgrade) โดย Evergrande มีความพยายามในการขายสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้นให้ได้มากที่สุด ล่าสุด มีข่าวที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในวงกว้างช่วง 2-3 วันนี้ เนื่องจากบริษัทเริ่มหยุดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน และอาจต้องเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้" 

บลจ.กรุงศรี ระบุอีกว่า กรณี Evergrande ไม่ใช่ความเสี่ยงที่กระทบทั้งตลาด (Systemic Risk) เนื่องจากอสังหาฯ เป็น Sector ที่ทางการจีนให้การดูแลเป็นพิเศษมาโดยตลอด และใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมภาพเศรษฐกิจโดยรวม ช่วงที่เศรษฐกิจดีจะเข้ามาควบคุม แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีจะออกมาตรการกระตุ้น ฉะนั้น จึงมีความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดผลกระทบเชิงลบไปทั้งอุตสาหกรรม แต่การที่ Evergrande ผิดนัดชำระหนี้ส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้ ทั้งธนาคาร ผู้ถือหุ้นกู้ และ Supplier ในวงกว้าง รวมทั้งอาจทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ รายอื่น ๆ กู้เงินได้ยากขึ้นด้วย

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นจีน มองว่า ยังคงลงทุนได้ เพราะประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบในวงกว้าง แต่ตลาดหุ้นที่เพิ่งบอบช้ำจาก Regulatory Risk (ความเสี่ยงจากมาตรการ) เมื่อเผชิญกับข่าวนี้อาจถูกกดดันไปสักระยะ และไม่ได้ฟื้นตัวเร็วในระยะเวลาอันใกล้ แต่มี Upside ที่มากในระยะเวลากลางถึงยาว จากการเติบโตของ New China ที่ยังดีอยู่ ดังนั้น สามารถหาจังหวะเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับตัวลงได้