“สันติ” มั่นใจ 10 คกก.สอบท่อส่งน้ำอีอีซี โปร่งใส ไม่เข้าข้างคนผิด

11 พ.ค. 2565 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2565 | 09:10 น.

“สันติ” มั่นใจ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี โปร่งใส ไม่เข้าข้างคนผิด ชี้ หลัง 20 พ.ค. ตั้งโต๊ะแถลงผลสอบ ห่วงเซ็นสัญญาช้ากระทบผู้ใช้น้ำ พร้อมเปิดเม็ดเงินโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ที่ "อีสท์วอเตอร์" ส่งให้รัฐในช่วง 30 ปี พบบางปีต่ำเพียง 3.77 ล้านบาท

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเข้าไปตรวจสอบทุกขั้นตอนในการเปิดประมูลโครงการบริหารท่อส่งน้ำฯ

 

รวมถึงการตรวจสอบผลประโยชน์ที่รัฐได้รับตลอด 30 ปี มีความสอดคล้องกับรายได้ของบริษัท อีสท์วอเตอร์ หรือไม่ โดยจะรายงานผลสรุปการสอบข้อเท็จจริง ภายใน 15 วัน ซึ่งกำหนดวันที่ 20 พฤษภาคม 65 นี้  

โดยสาเหตุที่กรมฯ ต้องมีการตรวจสอบโครงการดังกล่าว เนื่องจาก นายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องร้องเรียนจากคณะบุคคล ซึ่งไปพูดในเชิงลบต่อโครงการดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนไม่ว่ากลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่เราก็ต้องฟัง จึงขอให้ยืดเวลาในการเซ็นสัญญาโครงการนี้ไปก่อนเพื่อให้มีการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน

ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทั้ง 10 คนนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมธนารักษ์และบุคคลภายในทั้งหมด อาจทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสนั้น

 

นายสันติ กล่าวว่า คณะกรรมการทั้ง 10 คน ผ่านการแต่งตั้งโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเชื่อมั่นว่าจะไม่มีการเข้าข้างคนผิดอย่างแน่นอน

 

“ขณะนี้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเข้าไปตรวจสอบในทุกขั้นตอน รวมถึงตรวจสอบ TOR  ที่ทำให้การประมูลในครั้งแรกต้องยกเลิก เชื่อมั่นว่าคณะกรรมการสอบฯทั้ง 10 คน จะทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะเป็นคนที่รัฐมนตรีคลังเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งท่านจะไม่เข้าข้างคนผิดอย่างแน่นอน” นายสันติ กล่าว 

 

นายสันติ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ถูกโจมตี คือ เหตุใดกรมธนารักษ์มีการดำเนินการเซ็นสัญญาโดยไม่รอให้ศาลตัดสินกรณีบริษัท อีสท์วอเตอร์ ฟ้องร้องการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เป็นไปโดยมิชอบนั้น

 

ซึ่งมองว่าหลังศาลตัดสินคดีแล้ว ในช่วงปลายปี 65 หรือ ต้นปี 66 อาจจะมีการยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่ออีกหรือไม่ ซึ่งก็จะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาคดีเพิ่มขึ้นไปอีก

 

และหากถึงปลายปี 66 คดียังไม่จบ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม เพราะผู้ถือสัญญาบริหารท่อส่งน้ำฯ ในปัจจุบัน จะสิ้นสุดอายุสัญญา สิ้นปี 66

 

หรือ หากกรมธนารักษ์ ให้ บริษัทอีสท์วอเตอร์ บริหารโครงการฯ ต่อจนกว่าศาลจะตัดสิน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ก็จะมีประเด็นในเรื่องของผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ ว่าอีสท์วอเตอร์จะต้องจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐในราคาเท่าไหร่ เป็นต้น  

 

นอกจากนี้ นายสันติ ยังกล่าวถึงข้อกังวลในประเด็น กรณีหลังสิ้นสุดการสอบข้อเท็จจริงแล้ว และหากต้องรอการตัดสินของศาลปกครองชั้นต้นก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการเซ็นสัญญากับผู้บริหารโครงการใหม่ได้นั้น

 

บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ในฐานะผู้ประมูล อาจขอสละสิทธิ์ ซึ่งสามารถทำได้ และกรมธนารักษ์จะต้องเปิดประมูลใหม่ อาจเสี่ยงทำให้ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับลดลงจากเดิมที่ บริษัท วงษ์สยามฯ เสนอให้ที่ 25,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

 

“หากผู้ถือสัญญาเดิม มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 เหตุใดจึงไม่ฟ้องร้องต่อศาลก่อน และปล่อยให้มีการประมูลครั้งที่ 2 เกิดขึ้น จนถึงขั้นตอนเปิดซองและได้ผู้ชนะการประมูล ยืนยันว่าการดำเนินการของกรมธนารักษ์ เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวถึง 3 ครั้ง” นายสันติ กล่าว

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำหรับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐได้รับจากการให้ บริษัท อีสท์วอเตอร์ เช่าหรือบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537-2564 รวมจำนวน 600.87 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย 275.89 ล้านบาท โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ 209.6 ล้านบาท และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) 115.38 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ที่อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้บริหารท่อส่งน้ำ ตามเงื่อนไขสัญญา 30 ปี ระบุให้ผลประโยชน์แก่รัฐ เพียงปีละ 1% ของรายได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2537-2564 อีสท์วอเตอร์ส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด 16.35 ล้านบาท ในปี 2563 และส่งรายได้เข้ารัฐต่ำสุด 3.77 ล้านบาท ในปี 2543

 

ขณะที่โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ อีสท์วอเตอร์ ได้เริ่มเข้ามาบริหารท่อส่งน้ำในปี 2541 ซึ่งจะต้องส่งรายได้เข้ารัฐ 3% ของรายได้

 

โดยปีแรกส่งรายได้เข้ารัฐ 6.4 แสนบาท ต่อมาในปี 2558 รัฐได้เรียกเก็บค่าตอบแทน จากเดิม 3% ของรายได้ เป็น 7% ส่งผลให้ปี 2558 อีสท์วอเตอร์ ส่งรายได้เข้ารัฐ 18.94 ล้านบาท

 

ส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อีสท์วอเตอร์ เข้ามาบริหารท่อส่งน้ำในปี 2542 ซึ่งจะต้องส่งรายได้เข้ารัฐ 3% ของรายได้

 

โดยปีแรกส่งรายได้เข้ารัฐ 4.2 แสนบาท ต่อมาในปี 2558 รัฐได้เรียกเก็บค่าตอบแทน จากเดิม 3% ของรายได้ เป็น 7% ส่งผลให้ปี 2558 อีสท์วอเตอร์ ส่งรายได้เข้ารัฐ 11.36 ล้านบาท