ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้18ต.ค. “แข็งค่าเล็กน้อย” ที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

18 ต.ค. 2567 | 00:56 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2567 | 01:04 น.

ค่าเงินบาทกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.30 บาท/ดอลลาร์ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน รวมถึง รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้18ต.ค. 2567  ที่ระดับ  33.20 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.23 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways 33.05-33.30 บาทต่อดอลลาร์ เพราะถึงแม้ว่า เงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น

ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก ทว่า เงินบาทก็ยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมเป็นต้นมานั้น นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยขายสินทรัพย์ไทยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจเป็นการขายทำกำไร

อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ราคาทองคำยังปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็แกว่งตัว sideways นอกจากนี้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น ก็อาจช่วยหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้

 

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา

ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.05-33.30 บาท/ดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 33.15-33.27 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างเข้าใกล้โซนแนวต้าน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ (ยอดค้าปลีกและยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน)

ที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง รวมถึงการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) –25bps สู่ระดับ 3.25% ตามที่ตลาดคาด และแม้ ECB จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยในอนาคต พร้อมย้ำจุดยืน “Data Dependent”

ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 52% ที่จะต้องเร่งลดดอกเบี้ยถึง -50bps ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลงต่อเนื่อง (โดยเฉพาะเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศส)

ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้ นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงทะลุระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลง หลังราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ

ราคาหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผสมผสานพอสมควร โดยบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor รีบาวด์ขึ้นบ้าง อาทิ Nvidia +0.9% หลัง TSMC รายงานผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส เช่น Blackstone +6.3% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดูจะถูกกดดันจากการย่อตัวลงบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.02%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.83% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาสดใส อาทิ Nordea +6.3%, Nestle +2.5%

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังล่าสุด ECB ได้ลดดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) -25bps สู่ระดับ 3.25% 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซน 4.10% อีกครั้ง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยกลับมาเก็งกำไร Trump Trades มากขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดพนันที่เพิ่มโอกาสโดนัลด์ ทรัมป์อาจคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จาก Polymarket โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะสูงถึง 62%)

อนึ่ง เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่และบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต

ทว่า เราขอเน้นย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสที่ ECB อาจเร่งลดดอกเบี้ย –50bps ในการประชุมเดือนธันวาคม

ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยขายทำกำไรการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์บ้าง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 103.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.4-103.9 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทว่าราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ อีกทั้ง ราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากบรรดาผู้เล่นสไตล์ momentum และ trend following หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุจุดสูงสุดก่อนหน้า หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์แถว 2,700-2,710 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนของจีน อาทิ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) และยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน รวมถึง รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3

ซึ่งรายงานข้อมูลดังกล่าว จะช่วยให้ผู้เล่นในตลาดประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาสดใส หรือ ดีกว่าคาด ก็อาจช่วยหนุนความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ส่วนเงินหยวน (CNY) ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นเช่นกัน

ทางฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนกันยายน เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดได้ทยอยเพิ่มความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องของ BOE (อาจลดดอกเบี้ยราว -40bps ในอีกสองการประชุมที่เหลือในปีนี้)

ส่วนทางฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน