จับตาแบงก์ใหญ่ นำร่องลดดอกเบี้ยเงินกู้

17 ต.ค. 2567 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2567 | 08:53 น.

จับตาแบงก์สนองนโยบายการเงิน หลังกนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับ 2.25% หนุน SMEs ที่ใช้วงเงิน OD เพิ่มกำลังซื้อกลุ่มอสังหา ทีทีบีชี้ เปิดทางดอกเบี้ยขาลง ปีหน้าดอกเบี้ยนโยบายไทยจบที่ 2.00%

หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อ 16 ตุลาคม มีมติ 5 ต่อ 2 ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50%ต่อปี เหลือ 2.25% ต่อปี ได้รับการตอบรับที่ดี ทั้งตลาดหุ้นที่เด้งรับทันทีและค่าเงินบาทที่เริ่มผ่อนค่าลง     

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต(ttb)กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้เป็นการปรับดอกเบี้ยให้เป็นกลาง(Neutral rate)สอดคล้องกับระดับเศรษฐกิจและถือว่า การเปิดทางดอกเบี้ยขาลงของไทยได้เริ่มแล้ว แม้ในระยะข้างหน้า จะไม่เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตราที่มากนัก

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มบริหารจัดการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต(ttb)

"แต่ปีหน้า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะจบที่ 2.00% ซึ่งเหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจขณะนี้"

 

ส่วนการส่งผ่านดอกเบี้ยน่าจะเร็ว แม้ว่ารอบที่แล้วใช้เวลาเกือบ 6 เดือน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มลดดอกเบี้ยมาก่อนหน้าแล้วสำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งการลดดอกเบี้ยทำให้เงินต้นลดลงได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยคงที่ กรณีไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งกลุ่ม SMEs ที่เป็นการใช้สินเชื่อโอดีหรือวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี(โอดี) และรายย่อยได้รับผลบวก 

“ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง 0.25% เป็นอัตราที่ไม่น่าจะมากพอ และเชื่อว่า จะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาเข้ามาช่วย เพราะระบบธนาคารพาณิชย์พยายามจะดูแลช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งก่อนและหลังการเป็นหนี้ตามมาตรการปล่อยสินชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมRLอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า ยังมีความเสี่ยงที่เป็นปัญหาระยะยาวมากกว่าจะเป็นช็อคระยะสั้น เช่น ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือจะส่งผลทั้งลูกค้าธุรกิจหรือระดับรายได้ของคน จะส่งผลต่อลูกค้ารายย่อยอย่างไร หากเศรษฐกิจไทยยังเติบโตซึม คนก็ลำบาก ซึ่งทีทีบียังคงประมาณการจีดีพีปีนี้อยู่ที่ 2.8% ส่วนภาพรวมสินเชื่อทั้งปีโอกาสเติบโตได้น้อย

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)กล่าวว่า จากเหตุผลของกนง.ในการลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ดูเหมือนกนง.จะกังวลต่อ เสถียรภาพของระบบการเงิน และบอกว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25%น่าจะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง แต่จะไม่เป็นอุปสรรคกับการลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้

นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

เหมือนกนง.มีความเป็นห่วงว่า หากคงดอกเบี้ยต่ออาจทำให้หนี้และหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) จะสูงเกินไปจนกระทบกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ซึ่งหลังจากปรับลดดอกเบี้ยจะต้องดูพัฒนาการของเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงในระบบการเงินเพิ่มขึ้นหรือไม่  หากไม่มีอะไรที่เป็นภาพที่แย่ ส่วนตัวมองว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยในเดือนพ.ย. และต้นปีหน้าจะมีการพิจารณากันใหม่

"ในแง่ของการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องรอดูสัญญาณจาก 4 ธนาคารใหญ่ทยอยปรับลดดอกเบี้ยก่อนที่ทุกสถาบันจะปรับลดตาม และคาดว่าจะเห็นภายในสัปดาห์นี้"

ส่วนการก่อหนี้กรณีดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนั้น หากเป็นการก่อหนี้เพื่อทำธุรกิจ หรือเพื่อเพิ่มสภาพคล่องที่ดีและสามารถชำระคืนได้ไม่มีปัญหา แต่กนง.ห่วงการก่อหนี้เพื่อการบริโภคและไม่สามารถชำระคืน ซึ่งจะเป็นประเด็นปัญหาในระบบการเงินขึ้นมา ซึ่งต้องรอติดตามดูคุณภาพสินเชื่อที่จะเกิดขึ้นเช่น คนที่เคยชำระล่าช้า 1-2เดือน จะสามารถกลับมาจ่ายได้หรือไม่ หรือคนที่จ่ายชำระต่อเนื่องจะกลายเป็นไม่สามารถจ่ายหนี้หรือไม่

ขณะเดียวกันการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาได้บ้าง ส่วนผลต่อเศรษฐกิจนั้น ธปท.มองภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว โดยปรับประมาณการปีนี้เป็น 2.7% ใกล้เคียง TISCO ESU ที่ 2.8% แต่การลดดอกเบี้ยรอบนี้ของกนง. เพื่อจะป้องกันเสถียรภาพของระบบการเงินไม่ให้มีความเสี่ยงมากเกินไป

ดังนั้นเมื่อภาพเศรษฐกิจดี เงินเฟ้อช่วงปลายปีนี้จะเห็นเงินเฟ้อที่สูงกว่า 1.0%  และคิดว่ายังไม่มีใครใส่เรื่องโครงการดิจิทัล วอลเลตเฟส1 เข้าไปในประมาณการเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นเฟส2 ช่วงเดือน 3-4 ต้นปีหน้า อาจจะมีแผนแจกวอลเลตในช่วงนั้น โดยอาจจะเห็นการขยับประมาณการจีดีพีในปีหน้าขึ้นบ้าง

“ทิสโก้มองผลบวกของการลดดอกเบี้ยอย่างน้อยช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ผู้มีภาระนหนี้และการบริโภคน่าจะเพิ่มขึ้นจากที่คนมีเงินเหลือจากเดิมต้องจ่ายหนี้เดือนละ 1,000 บาทอาจจะจ่าย 700-800บาท ส่วนเรื่องการลงทุนน่าจะค่อยๆเห็นการฟื้นตัวกลับมา เพราะสัญญาณของการลดดอกเบี้ยมองไปอีก 1-2 ปีดอกเบี้ยมีโอกาสจะต่ำกว่านี้ได้อีก”นายเมธัสกล่าวทิ้งท้าย 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA ประเมินการลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.25%จะเป็น Sentiment บวกต่อภาพรวมทั้งกลุ่มอสังหาฯ ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ โดยประเมินการปรับลดดอกเบี้ยทุก 0.25% จะช่วยลดเงินผ่อนต่อเดือนราว 2% ส่วนฝั่งผู้ประกอบการอสังหาฯจะได้ผลบวกในแง่ลดต้นทุนการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่มีสัดส่วนหนี้ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวสูง อาทิ AP, SPALI 

อย่างไรก็ตาม แม้การลดดอกเบี้ยจะเป็นส่วนช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขาย แต่ตลาดอสังหาฯยังมีปัจจัยที่ท้าทาย เช่น การเข้มงวดของปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยังต้องเร่งระบาย Supply เหลือขายในตลาด ทำให้มองภาพรวมเป็นลักษณะทยอยฟื้น 

เราคงมองว่า ผู้ที่มีพอร์ตกระจายตัว กลยุทธ์เปิดโครงการจับกลุ่มที่ยังมี Demand และกำลังซื้อดี และมีส่วนแบ่งตลาดแข็งแกร่ง จะได้เปรียบกว่ารายอื่น เราคงเลือก AP เป็น Top Pick โดยระยะสั้นแนวโน้มงบ 3Q24 ฟื้นดี q-q และราคาหุ้น YTD ยัง Laggard