9 เดือนปี 67  "แบงก์" ฟาดรายได้ดอกเบี้ย 5.7 แสนล้าน

23 ต.ค. 2567 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2567 | 06:59 น.

11 แบงก์บจ. เปิดรายได้ดอกเบี้ยงวด 9เดือนปี67 กว่า 5.7 แสนล้านบาท รายได้มิใช่ดอกเบี้ยกว่า 1.86 แสนล้านบาทหนุนกำไรสุทธิเพิ่ม 4.5% หลังกันสำรอง 1.8 แสนล้านบาท หนี้เสียขยับ 5.3%หนี้เสีย

KEY

POINTS

  • งวด 9 เดือนปี 2567 ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้ดอกเบี้ยรวมกว่า 5.7 แสนล้านบาท
  • NPL แบงก์เพิ่มขึ้น 5.3% แต่ยังคงสามารถตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนได้มากขึ้น 6.4% เป็น 1.8 แสนล้านบาท
  • หากเทียบจากสิ้นปี 2566 กลับพบว่า ยอดสินเชื่อรวมลดลง 272,355 ล้านบาท หรือลดลง 1.87%

ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) 11 แห่งรายงานผลประกอบการ ไตรมาส 3/67 พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 6.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 6.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือนแตะ 1.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวม 1.84 แสนล้านบาท อานิสงก์รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและ รายได้มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 

9 เดือนปี 67  \"แบงก์\" ฟาดรายได้ดอกเบี้ย 5.7 แสนล้าน

ทั้งนี้ในไตรมาส 3/67 พบว่า 6 แบงก์ทำรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม งวด 9 เดือนแตะ5.73 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 32,268 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.95% นำโดยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา 82,848 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 17.6% รองลงมาเป็นไทยเครดิตเพพิ่ม 12.2% กรุงไทยเพิ่ม 7.8% ไทยพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 6.2% 

ขณะเดียวกันรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยไตรมาส3 เพิ่มขึ้น 8,029.89 ล้านบาทหรือ 14.6% จาก 5.5 หมื่นล้านบาทเป็น 6.3 หมื่นล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนเพิ่มขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 5.75%เป็น 1.86 แสนล้านบาท จาก 1.76 แสนล้านบาทในงวด 9 เดือนปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารส่วนใหญ่จะมีต้นทุนทางการเงินและต้นทุนรับเงินฝากเพิ่ม แต่ยังเห็นการเติบโตจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ อัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงิน รายได้จากการค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ รายได่ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้อื่นๆ

"อาทิ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อและบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมรับจากการบริหารความมั่งคั่ง (wealth) รายได้จากเงินลงทุนและการค้า"

ขณะเดียวกันธนาคารทั้ง 11 แห่งให้ความสำคัญในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น 6.4% เป็น 1.80 แสนล้านบาทในงวด 9 เดือนของปีนี้จาก 1.69 แสนล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ยังขยับเพิ่ม 5.39% เป็น 5.45 แสนล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 5.17 แสนล้านบาท 

 อย่างไรก็ตาม หากเทียบจากสิ้นปี 2566 กลับพบว่า ยอดสินเชื่อรวมลดลง 272,355 ล้านบาท หรือลดลง 1.87% นำโดย BAY ลดลง 90,268 ล้านบาทหรือลดลง 4.5% TTB ลดลง 71,906 ล้านบาทหรือลดลง 5.6% และ KBANK ลดลง 56,785 ล้านบาทหรือลดลง 2.28% 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปีนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังทำกำไรได้ตามคาด แต่รายได้ 9 เดือนธนาคารเล็กจะถูกกดดันมากกว่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อคอร์ปอเรต เอสเอ็มอีดูดีขึ้นบ้าง อาจเป็นผลจากการตั้งสำรองก่อนหน้า ทำให้รอบนี้ไม่เลวร้าย 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

"รายได้ดอกเบี้ยและรายได้มิใช่ดอกเบี้ยจะเห็นการปรับเพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนของธนาคารยังคงมีต่อเนื่องด้านเทคโนโลยี่ ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของสินเชื่อที่ยังไม่ค่อยดี ไตรมาส4 จะเริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยค่อยๆ ปรับลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยขาลง ส่วนธนาคารขนาดใหญ่ที่ถือครองตราสารหนี้ อาจจะได้กำไรจากผลตอบแทนพันธบัตร

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนัก ค่อยข้างประคองตัว ซึ่งตลาดจับตาการเบิกจ่ายภาครัฐและมาตรการกระตุ้น เนื่องจากมาตรการที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและธนาคารมากนัก ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวหรือไม่มีปัจจัยที่ชัดเจนที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเปลี่ยนทิศทางหรือกลับหัวเป็นขาขึ้น  

ทั้งนี้ในไตรมาส4 จะเริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยของธุรกิจแบงก์ลดลง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้ loan yield ลดลงทันที แม้การปรับลดดอกเบี้ย ควรจะช่วยให้คุณภาพสินเชื่อดีขึ้นหรือต้นทุนในการกู้จะจูงใจผู้กู้หน้าใหม่ แต่แนวโน้มการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้นยังคงมีอยู่เป็นปกติ 

“ภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดจะเป็นปัจจัยที่มีนัยยะต่อธุรกิจแบงก์เช่นกัน อีกทั้งครึ่งหลังไตรมาส4ยังต่อติดตามผลกระทบจากต่างประเทศกับภาคส่งออกไทยซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างไร”ดร.จิติพลกล่าว 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด (Liberator)กล่าวว่า การรายงานงบการเงินของกลุ่มธนาคารพบว่า 7 ธนาคารหลักมีกำไรรวม 5.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากไตรมาสก่อน และเติบโต 8.5% จากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ดีกว่าตลาดคาด 5.7% ซึ่ง ดีกว่าคาดมากสุดคือ KKP, SCB โดยรวมมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และการตั้งสำรองที่ลดลง 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด

แม้สัญญาณ NPL ส่วนใหญ่จะขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อชะลอตัวทั้งจากไตรมาสก่อน และจากเทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน มีแค่ KTB ที่ขยายตัว

ส่วน NIM ทรงตัว แต่มีแนวโน้มลดลงในช่วงถัดไปจากการที่ กนง. ลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี กลุ่มธนาคาร ยังจ่ายปันผลสูง และ Valuation ไม่แพง ดังนั้น อาจใช้กลยุทธ์ย่อตั้งรับเน้น KTB, SCB, KBANK


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,038 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2567