ตลาดหุ้นเอเชียเปิดสัปดาห์ด้วยความปั่นป่วนครั้งใหญ่ ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นทำลายสถิติการร่วงลงอย่างรุนแรง โดยภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงหลังเปิดตลาด ดัชนีดิ่งลงกว่า 2,400 จุด และยังคงร่วงต่อเนื่องจนถึง 5.3% หรือราว 1,900 จุด เมื่อครบชั่วโมงแรกของการซื้อขาย ถือเป็นวันที่ร่วงลงครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่การเทขายหุ้นในวัน Black Monday เมื่อปี 1987
ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ญี่ปุ่น ตลาดหุ้นทั่วเอเชียต่างพากันปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดย ดัชนี Kospi ของเกาหลี นำขบวนด้วยการร่วงลงถึง 3.9% ตามด้วยดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกง (-1.58%) ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีน (-0.55%) และ ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ร่วงลง 2.3% สถานการณ์นี้ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มใช้คำว่า "ตลาดหมี" เพื่ออธิบายสภาวะของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งร่วงลงเกือบ 20% จากจุดสูงสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม
นักวิเคราะห์จาก IG Australia บอกกับ Bloomberg TV ว่า ไม่เคยเห็นวันแห่งการทำลายล้างครั้งใหญ่แบบนี้มาก่อนเลย นับตั้งแต่ที่มีการเทขายหุ้นเนื่องจากโควิด19 ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2020 (2563 )
นักวิเคราะห์ระบุสาเหตุของความปั่นป่วนครั้งนี้ คำตอบอยู่ที่สหรัฐฯ รายงานการจ้างงานประจำเดือนกรกฎาคมที่อ่อนแอเกินคาด จุดชนวนความกังวลว่า "เศรษฐกิจโลก" อาจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปิดท้ายสัปดาห์ด้วยการร่วงลงอย่างหนัก โดย Nasdaq เข้าสู่ภาวะปรับฐาน ลดลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุด
แต่บรรดานักวิเคราะห์เคยแนะนำไว้ก่อนหน้านี้ว่า การล่มสลายของตลาดหุ้นมักจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ไม่รุนแรงเท่ากับวิกฤตการณ์ด้านที่อยู่อาศัยหรือวิกฤตสินเชื่อ เป็นต้น ตามรายงานของ businessinsider
ขณะเดียวกัน เงินเยน กลับแข็งค่าขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซื้อขายที่ 145.42 เยนต่อดอลลาร์ สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศ นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
รายงานจากรอยเตอร์ ระบุว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ กล่าวว่า ทั้งความคาดหวังอัตราดอกเบี้ยและข้อมูลเศรษฐกิจไม่สามารถอธิบายความรุนแรงของการเทขายได้ แม้ว่าอาจเป็นไปได้ว่า แรงผลักดันมาจากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น โดยให้ผลตอบแทนระยะสั้นที่เกือบเป็นศูนย์และมีค่าเสื่อมราคาต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินเยนกลายเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์มาหลายปีแล้ว
ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงหนักสุดในรอบเกือบ 37 ปี นับแต่ตั้งแต่ ค.ศ.1987 ที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday
ในประวัติศาสตร์ตลาดการเงินโลก มีวันที่จารึกไว้คือวันที่ 19 ตุลาคม 1987 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "Black Monday" หรือ "วันจันทร์ทมิฬ" วันที่ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงเหว
ในวันนั้นเริ่มต้นจากสหรัฐฯ เมื่อดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลงถึง 22.6% ในวันเดียว นับเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั่วโลกตื่นตระหนก ตลาดหุ้นในประเทศอื่นร่วงลงตามกัน ญี่ปุ่นลดลง 14.9% แคนาดา 22.5% สหราชอาณาจักร 26.5% และฮ่องกงถึง 45.8%
นักวิเคราะห์ชี้ว่ามีหลายปัจจัย
1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอจากปัญหาการขาดดุลการค้าและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สร้างความกังวลให้นักลงทุน
2. ฟองสบู่ในตลาดหุ้น จากราคาหุ้นพุ่งสูงเกินจริง
3. เทคโนโลยีที่กลายเป็นดาบสองคม การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการซื้อขายอัตโนมัติ ทำให้เกิดการเทขายหุ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ผลกระทบของวันจันทร์ทมิฬนั้นรุนแรงและยาวนาน นักลงทุนทั่วโลกสูญเสียเงินมหาศาลความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นพังลง นักลงทุนจำนวนมากถอนตัวจากตลาด
จากวิกฤตครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานกำกับดูแลได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เช่น การควบคุมการซื้อขายด้วยโปรแกรม การเพิ่มความโปร่งใส และการพัฒนาระบบจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีการนำมาตรการ "Circuit Breakers" เพื่อหยุดการซื้อขายชั่วคราวเมื่อตลาดผันผวน
วันจันทร์ทมิฬไม่ใช่เพียงวันหายนะ แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบการเงินโลก เป็นบทเรียนราคาแพงที่เตือนใจนักลงทุนและผู้กำกับดูแลตลาดอย่างมาก