เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ Cobra Gold 2022 ครั้งที่ 41 ก่อนฝึกจริงในไทย

05 ก.พ. 2565 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 14:57 น.

เรารู้อะไรบ้างก่อนที่ Cobra Gold 2022 ครั้งที่ 41 ในวงรอบ Heavy Year จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2565 นี้

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ Cobra Gold 2022 ในวงรอบ Heavy Year  จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการร่วมผสมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโดแปซิฟิก

ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี เป็นการกระชับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีมายาวนาน 200 ปี และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด และมีความร่วมมือหลายมิติ ทั้งการค้า เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความมั่นคง และการฝึกทางทหาร

คอบร้าโกลด์ เป็นการฝึกร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทย เริ่มครั้งแรกจากการฝึกทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2525 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแบบพหุภาคีโดยมีประเทศอื่น ๆ เข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

คอบร้าโกลด์ 2022 เป็นครั้งที่ 41 มีประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย

 

ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย และออสเตรเลีย ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ และเวียดนาม รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศ

 

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิดในปีนี้ได้มีการปรับลดกำลังพลจาก 8,964 นาย เหลือ 3,460 นาย ประกอบด้วย ไทย 1,953 นาย สหรัฐอเมริกา 1,296 นาย สิงคโปร์ 50 นาย อินโดนีเซีย 16 นาย ญี่ปุ่น 35 นาย สาธารณรัฐเกาหลี 41 นาย มาเลเซีย 36 นาย จีน 10 นาย อินเดีย 5 นาย และออสเตรเลีย 18 นาย 

 

ในปีนี้การให้ประเทศที่เป็นผู้สังเกตการณ์จากเดิมมี 10 ประเทศ เข้าร่วมฝึก เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดจึงไม่มีการเชิญประเทศเมียนมาในฐานะเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ เป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ที่เห็นตรงกันว่าอาจไม่คุ้มค่าในเรื่องของเวลา  

 

พร้อมกันนี้ยังได้ปรับรูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์ โดยงดการฝึกร่วมขนาดใหญ่ของทั้ง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ การฝึกยกพลขึ้นบก การฝึกอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่การรบ และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง และคงการฝึกผสมในระดับยุทธวิธีของทั้ง 3 เหล่าทัพ

 

ในปีนี้ ทางกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกางดส่งกำลังทางอากาศเข้าร่วมการฝึก ขณะที่กองทัพบกสหรัฐฯ มี V22 ออสเปรย์ Black Hawk 12 เครื่อง กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาส่งเรือลาดตระเวนทางทะเล เรือ USS.GREE BAY

 

รูปแบบการฝึกฯ Cobra Gold 2022

1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม 2565 โดยกองบัญชาการกองทัพไทยจัดตั้งกองบัญชาการกองกำลังผสมนานาชาติ (Multi National Forces Headquarters: MNF HQs.) ร่วมกับกองทัพสหรัฐอเมริกาและมิตรประเทศ ณ อาคารม้าแดง กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

2. โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 3 มีนาคม 2565 จำนวน 5 โครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านทุ่งนุ้ย จังหวัดกระบี่ โรงเรียนบ้านหนองมะค่า จังหวัดสระบุรี โรงเรียนวัดคลองตะเคียน จังหวัดจันทบุรี โรงเรียนหนองบอนวิทยาคม จังหวัดตราด และโรงเรียนบ้านเขาตาอิ๋น จังหวัดระยอง

 

3. การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relief Tabletop Exercise: HADR-TTX) ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โรงแรมสิรินพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

4. การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 5 มีนาคม 2565 โดยเหล่าทัพรับผิดชอบการฝึกในรูปแบบการฝึกแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ (Subject Matter Expert Exchange: SMEE) พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลพบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และอ่าวไทยตอนบน

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 คืออะไร

  • ระดับประเทศ เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับนานาชาติในการเตรียมความพร้อมด้านการทหารที่มีความเข้มแข็ง ทันสมัย สามารถตอบสนองภารกิจด้านความมั่นคงในทุกมิติ เช่น การรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระดับกองทัพ เป็นการพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร ในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพไทย กองทัพสหรัฐอเมริกา และกองทัพจากมิตรประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยในทุกมิติ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะด้านการบรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาค เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน
  • ระดับพื้นที่ที่เข้าทำการฝึกฯ ได้รับประโยชน์จากการฝึกในส่วนโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของมิตรประเทศและประชาคมโลกต่อไป

 

 

จี้สหรัฐทบทวน“คอบร้าโกลด์ 2022”

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายนิติธร ล้ำเหลือ แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย และนายพิชิต  ไชยมงคล อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพมหานคร ถึง นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

 

เพื่อขอให้สหรัฐทบทวนการซ้อมรบ “คอบร้าโกลด์ 2022” อันนำมาซึ่งความเสี่ยงภัยของไทย โดยกลุ่มประชาชนคนไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกคอบร้าโกลด์ 2022 จะเป็นภัยซ่อนเร้น เพื่อเปิดทางสู่การชักศึกเข้าบ้านหรือไม่?