AMR รับกระแสเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าปี 65 โต 40%

30 มี.ค. 2565 | 07:14 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 14:14 น.

นโยบายรัฐบาลพัฒนาจังหวัดต่างๆ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หนุนรายได้ AMR ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางระบบไอทีโซลูชั่น ตั้งเป้าปี 65 โต 40% จาก Backlog ที่มีแล้วกว่า 1,800 ล้านบาท แถมเดินหน้าร่วมประมูลงานอย่างต่อเนื่อง

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่า นโยบายรัฐบาลที่ชัดเจนในการผลักดันประเทศไทยให้ศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะในจังหวัดต่างๆ จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัทฯ เพราะการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจากผู้ชำนาญในการวางระบบ ซึ่ง AMR ถือว่า มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการเข้าประมูลงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานที่จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

AMR  รับกระแสเมืองอัจฉริยะ ตั้งเป้าปี 65 โต 40%

 

"AMR ถือว่า มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในการเข้าประมูลงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานที่จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง"นายมารุตกล่าว

ทั้งนี้ปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 40% เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือที่มีอยู่แล้วกว่า 1,880ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้ จะมีงานโครงการใหม่ที่เปิดให้ประมูลมากขึ้น รวมทั้งบริษัทฯ จะมีการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจที่มีรายได้ประจำ และรายได้ในส่วนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน 

 

นอกจากนั้น ปีนี้ บริษัทฯ ได้รับโครงการใหม่หลายโครงการ และยังอยู่ช่วงต้น จะสามารถทยอยรับรู้รายได้ช่วงครึ่งปีหลังของปี ซึ่งจะทำให้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น

บริษัทฯ ยังได้วางงบลงทุนในปีนี้ 1,000-2,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายที่จะรุกขยายการลงทุนไปในธุรกิจด้านการให้บริการพร้อมซ่อมบำรุงและดูแลรักษาแบบเบ็ดเสร็จ และร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และ/หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับระบบคมนาคม เช่น ระบบขนส่งสายรอง ระบบเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และระบบอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการเมือง โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income)สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น

 

ล่าสุดบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาจ้างเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน  โครงการส่วนต่อขยายตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ถ.กรุงเทพ - นนทบุรี - ถ. ติวานนท์ มูลค่าโครงการ 176,666,394.10 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินการ 599 วัน และรับประกัน 2 ปี

 

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ชนะการประมูลงานในหลายโครงการ เช่น สัญญาจ้างเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถนนสุขุมวิท (ซอยสุขุมวิท 81-ซอยแบริ่ง) ส่วนที่ 2 งานไฟฟ้า มูลค่าโครงการ 216,462,518.89 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินการ 1,080 วัน 

 

หรือแม้การประมูลงานในต่างจังหวัด บริษัทก็ได้รับการไว้วางใจ เช่น งานติดตั้งท่อใต้ดินและวางเคเบิลใยแก้วสำหรับ OSP Saphan Project (Underground Fiber Cable) เส้นทาง สตูล-หาดใหญ่ ระยะทางรวม 202 กิโลเมตร รวมมูลค่าทั้งสิ้น 131,992,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)