ภาพปรากฏการณ์ สุริยุปราคา วันที่ 20 เมษายน 2566 ซึ่งเห็นได้ใน ประเทศไทย ผ่านพ้นไปแล้วในช่วงเช้า โดยมีบางพื้นที่ทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่สามารถมองเห็นได้บนท้องฟ้า นอกนั้น ก็ยังสามารถร่วมสังเกตได้ผ่านการถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITpage)
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ครั้งนี้ ถือเป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 - 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
การเกิดคราสครั้งนี้ ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
สุริยุปราคาบางส่วนเหนือน่านฟ้าเมืองไทย เกิดขึ้นในเวลาประมาณ 10:22 - 11:43 น. คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส โดยจะเห็นคราสร้อยละ 4 (ส่วนที่ดวงอาทิตย์ถูกเงาจันทร์บัง) และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่
ทั้งนี้ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน
สมาคมดาราศาสตร์ไทย (Thai Astronomical Society หรือ สดท.) ซึ่งเป็นสมาคมทางวิชาการด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วนครั้งถัดไปในประเทศไทยนั้น หลังจากวันนี้ไปแล้ว (20 เม.ย.2566) จะปรากฏให้เห็นอีกครั้ง ก็ในวันที่ 2 สิงหาคม 2570 คนไทยจะเห็นได้ทั่วประเทศ
ส่วน สุริยุปราคาวงแหวนครั้งถัดไป ในประเทศไทย จะเห็นได้ดังนี้
1) 21 พฤษภาคม 2574 ผ่านภาคใต้ตอนล่าง สตูล ยะลา นราธิวาส
2) และ 14 ตุลาคม 2585 ผ่านภาคใต้ตอนล่าง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา
ขณะที่ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ครั้งถัดไป ในประเทศไทย จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 เมษายน 2613 หรืออีก 47 ปีข้างหน้า ผ่าน อ.บางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ ตราด (เกาะช้าง)
และต่อไปนี้เป็นประมวลภาพสุริยุปราคาเหนือน่านฟ้าเมืองไทย ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ในวันที่ 20 เม.ย. 2566