วันที่ 25 พ.ค.2565 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้อ่านคำพิพากษา กรณีที่ กกต.ร้อง นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร (นายก อบจ.สมุทรสาคร) กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ขอให้มีการเลือกตั้ง นายกอบจ.สมุทรสาคร ใหม่
โดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิจารณาแล้วให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมทั้งยกคำร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนของ นายสุรวัช เรืองศรี สมาชิกสภา อบจ. อ.กระทุ่มแบน เขตเลือกตั้งที่ 5 ด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 กกต.ได้เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต.ให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งนายกอบจ.สมุทรสาครใหม่ แทน นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ และสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายสุรวัช เรืองศรี สมาชิกสภา อบจ. อ.กระทุ่มแบน เขตเลือกตั้งที่ 5 ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 108 วรรคสอง รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญากับ นายสุรวัช ตามมาตรา 65(1) ประกอบมาตรา 126
เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้โทรศัพท์ติดต่อโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อย้ายนักเรียนซึ่งเป็นหลานสาวเข้าเรียน ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวแนะนำว่า นักเรียนต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน ผู้มีสิทธิคนดังกล่าวจึงได้ติดต่อ นายสุรวัช และได้รับคำแนะนำว่าให้ไปพบกับบิดาตน ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน
หลังจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวได้พบกับบิดาของนายสุรวัช แล้วก็ได้ไปติดต่อที่สำนักทะเบียนดำเนินการย้ายชื่อนักเรียนคนดังกล่าว เข้าบ้านเลขที่ของโรงเรียนและสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนดังกล่าว จากนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวได้ส่งข้อความขอบคุณนายสุรวัช ทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ที่ นายสุรวัช และบิดา ของนายสุรวัฒน์ ช่วยเหลือให้หลานสาวได้เข้าโรงเรียนตามที่ประสงค์
โดยปรากฏภาพการสนทนาที่ นายสุรวัช ได้นำไปโพสต์ในบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ "สุรวัช เรืองศรี" เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ประกอบกับจากการตรวจสอบใบแจ้งการย้ายที่อยู่ปรากฏว่า ในช่องลงชื่อเจ้าบ้านยินยอมให้ย้ายเข้า มีการพิมพ์ชื่อของเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองกระทุ่มแบนเป็นผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งน่าเชื่อว่าบิดาของนายสุรวัฒน์ได้ดำเนินการช่วยเหลือย้ายชื่อของนักเรียนคนดังกล่าว เข้าทะเบียนบ้านของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อให้นักเรียนคนดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ที่สามารถเข้าเรียนได้
การที่ นายสุรวัช โพสต์บทสนทนาระหว่างตนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวในบัญชีเฟซบุ๊กของตนว่า "ได้ช่วยฝากหลานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวเข้าโรงเรียนเรียบร้อยแล้ว และขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวลงคะแนนให้แก่นายอุดม" การกระทำของนายสุรวัช จึงมีลักษณะเป็นการแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิกในกลุ่มเฟซบุ๊ก ที่พบเห็นให้ลงคะแนนให้แก่นายอุดม
จึงเข้าลักษณะเป็นการจัดทำ ให้ เสนอให้สัญญา ว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นายอุดม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65(1)
โดย "นายอุดม" ย่อมได้รับประโยชน์ในการเลือกตั้งจากการกระทำของนายสุรวัช เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.สมุทรสาคร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ นายอุดม เกิดจากการเลือกตั้งที่ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 108 วรรคสอง
ภายหลัง กกต.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ นายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ นายกอบจ.สมุทรสาคร ได้ต่อสู้คดีด้วยการยื่นอุทธรณ์คดี จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้นัดฟังคำสั่งคดีในวันนี้
ด้านนายอุดม ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 65 ว่า รู้สึกประหลาดใจที่ได้ใบเหลือง เพราะทราบมาว่า กกต.จังหวัดสมุทรสาคร ยกคำร้อง กกต.ซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนก็ยกคำร้อง แต่จู่ๆ กกต.ชุดใหญ่ 7 คน กลับให้ใบเหลือง ดังนั้น ตนต้องไปพึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตรวจสอบข้อมูล ถูกกล่าวหาพบว่า คนที่ กกต. ระบุว่าลงคะแนนให้ตนเอง ทำให้ได้ประโยชน์นั้น ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะบุคคลดังกล่าวไม่ได้มาลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากกลัวโควิดที่ระบาดหนัก ใน จ.สมุทรสาคร ช่วงเลือกตั้ง
"ผมเชื่อมั่นศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะให้ความยุติธรรมกับผม เพราะไม่มีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าวจนทำเหตุให้แพ้หรือชนะเลือกตั้งได้ หลังจากได้ใบเหลืองได้มีชาวบ้านโทรมาให้กำลังใจจำนวนมาก พร้อมให้ความเชื่อมั่นว่าจะต่อสู้ต่อไปไม่เสียกำลังใจเพราะที่ผ่านมาถูกกระทำมาเยอะแล้ว" นายอุดม กล่าว