BIM แบบอัจฉริยะลดสูญเสีย30%

09 พ.ย. 2562 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2562 | 11:44 น.

การเกิดขึ้นของ สมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ BIM อย่างเป็นทางการ ผ่านการรวมตัวของคนหลากหลายอาชีพ องค์กร เช่น สถาปนิก วิศวกร ภาครัฐ การศึกษาและเอกชน เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการออกแบบ (โมเดล) พิมพ์เขียวของโครงการก่อสร้างลักษณะ 3 มิติ (BIM) ทดแทนแบบกระดาษเดิมๆ ไม่เพียงแต่บ่งบอกว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยกำลังถูกเทคโนโลยีดิสรัปชัน ถึงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญไปสู่ยุค 5 G แต่ระบบดังกล่าวยังมีนัยในเชิงเศรษฐกิจภาพรวมและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อีกด้วย เพราะประสิทธิภาพงานที่ดีขึ้น เวลาที่ชัดเจน และเม็ดเงินที่ถูกต้องโปร่งใสทั้งจากโครงการของรัฐและเอกชน ย่อมส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศให้รวดเร็วขึ้น

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศ อาคาร ระบุว่าปัจจุบันวงการก่อสร้างไทย เป็นอีกภาคส่วนที่เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ จากแบบ 2 มิติแทนที่ด้วย 3 มิติ (BIM) ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เส้นสายของแบบบนกระดาษนับสิบแผ่น แต่จะมีฐานข้อมูลของโครงสร้างสำคัญ เช่น รายละเอียดของวัสดุต่างๆที่จะถูกใช้ในตัวอาคาร โดยสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์งานต่อเนื่อง เช่น การใช้พลังงาน การใช้นํ้า แสงสว่าง หรือ อุณหภูมิ เพื่อปรับให้สอดคล้องสมดุลกัน เปลี่ยนโฉมการทำงานแบบเดิม ที่พบเมื่อแบบก่อสร้างผิดผลาด หรือไม่เป็นที่พอใจ ก็นำไปสู่การทุบทำลาย สร้างใหม่ ซึ่งถือเป็นการสูญเสียทรัพยากร ค่าใช้จ่าย หรือมีการฟ้องร้องตามมา แต่ BIM จะแสดงแบบชัดเจนเสมือนจริงมากที่สุด และสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้ทุกสถานที่ ทุกเวลาทั้งเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในทุกกระบวนการให้งานก่อสร้างมีคุณภาพสูงขึ้น

ปัจจุบันระบบ BIM เริ่มถูกนำมาใช้ในงานก่อสร้างสำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู ศูนย์ราชการแจ้ง วัฒนะเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการของเอกชน ส่วนภูมิภาคอาเซียน มีประเทศสิงคโปร์เป็นต้นแบบ คาดภายใน 5 ปี ไทยจะเปลี่ยนผ่านระบบจาก 2 มิติ เป็นสู่ 3 มิติเต็มตัว เนื่องจากขณะนี้ยังติดขัดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ การตรวจรับงานโดยส่วนราชการท้องถิ่น และการลงทุนในเชิงซอฟต์แวร์

BIM แบบอัจฉริยะลดสูญเสีย30%

แต่อย่างไรก็ตาม มองเป็นต้นทุนระยะเริ่มต้น ที่สามารถนำไปลดค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ และมีความหมายในเชิงระบบเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศเมื่อสำเร็จ เพราะอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย เหมารวมตลาดโครงการที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม และงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นภาคขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ การใช้ BIM จะสามารถลดความสูญเสียและความเสี่ยงของงานได้ 20-30% ขณะเดียวกันหากภาครัฐที่นำ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างมาใช้ในราชการ แล้ว นำระบบดังกล่าวมาใช้ควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยในการคำนวณงบประมาณและระยะเวลาที่ถูกต้องโปร่งใส จะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เวลาสำคัญมาก กรณีกู้เงินมาแล้ว ทำโครงการไม่สำเร็จ เพราะแบบขัดแย้ง ทำให้เวลาหายไปมากสุดเป็นปี มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม การนำ BIM เข้ามา นอกจากจะได้แบบจำลอง 3 มิติแล้ว ยังมีมิติที่ 4 คือ เรื่องของเวลา BIM จะคำนวณเวลาได้ค่อนข้างแม่นยำ ลดข้อขัดแย้ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายอัตโนมัติเท่ากันหมด ลดการทุจริตคอร์รัปชัน”

ขณะในวงการอสังหา ริมทรัพย์ไทยโดยผู้พัฒนากลุ่มโครงการคอนโดมิเนียมชั้นนำหลายค่าย เช่น อนันดา, เอพี, เอสซี แอสเสท และ แสนสิริ เป็นต้นมีการนำระบบ BIM มาใช้ในการออกแบบอาคารในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมา โดยนายสันทัด ณัฎฐากุล ประธานเจ้าหน้าที่สายงานควบคุมการผลิต บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มศึกษาและนำระบบดังกล่าวมาใช้ในงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2560 ในทุกโครงการคอนโดมิเนียม ผ่านการลงทุนซอฟต์แวร์ประมาณ 1 แสนบาทต่อชุด ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรที่มีความเข้าใจและชำนาญระบบ BIM ประมาณ 50% จากทั้งหมด

 

ทั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับวางแผนส่วนงานสำคัญ เช่น การปูกระเบื้อง การสั่งตัดเหล็ก สูงสุด คือลดความขัดแย้งของแบบโดยรวมได้ เพื่อป้องกันการทุบรื้อ ที่แม้แต่จุดเล็กๆ ก็ก่อให้สูญเสียเวลา และค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น เช่น ท่อที่ต่อไปชนกับคาน อาจทำให้ต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานกว่า 4 เดือน เฉลี่ยหลังจากนำระบบดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างอาคาร สามารถลดต้นทุนไปได้แล้วถึง 27 ล้านบาท เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแล้ว BIM ยังช่วยทำให้การบริหารจัดการอาคารได้เร็วขึ้น ผ่านการตรวจเช็กดูแลที่เป็นระบบเดียวกัน

 “คาดปีหน้าทุกบริษัท วงการสำคัญๆ จะถูกบีบให้ใช้ระบบ BIM สำหรับการก่อสร้างมากขึ้นเพราะขณะนี้ภาครัฐ เอกชน หลายฝ่ายเริ่มขยับ เช่น ท่าอากาศยาน หรือแม้แต่ กรมธนารักษ์ ก็เริ่มบังคับให้มีการยื่นแบบผ่านดิจิทัลแล้ว”

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562

                         BIM แบบอัจฉริยะลดสูญเสีย30%