“นครราชสีมา” รู้จักในชื่อโคราชเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ศูนย์กลางการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงด้วยถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เริ่มต้นที่จังหวัดสระบุรีสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย ทำให้ โคราช ถูกขนานนาม “ประตูสู่อีสาน” ประตูเศรษฐกิจบานแรกที่เปิดผ่านไปสู่หลายจังหวัดและเชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยชัยภูมิเป็นที่ราบสูง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นเขตป่าอุทยาน และเขตเมือง ส่งผลให้การพัฒนาแบ่งออกเป็นสองฝั่ง
ได้แก่ฝั่งอำเภอเมืองนครราชสีมา ย่านการค้าเมืองเก่าแก่ และฝั่งอำเภอปากช่อง ย่านคนรวย ดงเศรษฐี เซเลปเมืองไทย มารวมตัวบริเวณ เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผืนป่าดงพญาเย็น ขุนเขาที่ถูกห่อหุ่มไปด้วยชั้นโอโซนระดับโลก แม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้าพื้นที่
ปากช่อง-เขาใหญ่บูม
หลังจากเกิดสถานการณ์โควิด พบว่าการกว้านซื้อที่ดินพัฒนาโครงการ บ้านพักตากอากาศหรูเริ่มกลับมาอีกครั้ง จากคนที่ต้องการอยู่กับธรรมชาติและไม่ต้องการเผชิญกับเชื้อโรคร้ายที่อาจหวนกลับมาไม่วันใดก็วันหนึ่ง ที่สำคัญ ใกล้กรุงเทพฯเดินทางไม่เกิน2ชั่วโมง และอนาคตอันใกล้ อาจใช้เวลา ไม่เกิน 1 ชั่วโมง หากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมาเปิดใช้เส้นทางในไม่ช้านี้ที่จะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและเห็นทัศนียภาพขนานไปกับเขื่อนลำตะคอง ที่นับเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ที่สวยที่สุดในประเทศไทย รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการ รวมถึงโครงการถนนวงแหวนรอบเมือง ที่ปัจจุบันกลายเป็นขุมทองบ้านจัดสรรที่มีดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่นและส่วนกลางเข้าไปปักหมุด
มอเตอร์เวย์ -ไฮสปีดดันที่พุ่ง
ขณะราคาที่ดินขยับขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะช่วงปี2562 ก่อนสถานการณ์โควิด บริเวณ จุดขึ้นลงมอเตอร์เวย์บริเวณถนนธนะรัชต์ กม.3 ที่อำเภอปากช่อง ราคาขยับขึ้นไร่ละ 10-20 ล้านบาท จากปี 2557 ราคายังอยู่ที่ไร่ละ 5 ล้านบาท ปัจจุบัน เริ่มมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนมากขึ้นทำให้ บริเวณถนนธนะรัชต์ แทบจะหาที่ดินราคา 10 ล้านบาทต่อไร่ไม่ได้และมีแนวโน้มขยับเป็น 30 ล้านบาทอัพต่อไร่ โดยเฉพาะบริเวณหมูสี ที่มีโฉนดที่ดิน เช่นเดียวกับราคาที่ดินในเขตเมืองที่เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง จากราคาตารางวาละ 60,000-80,000 บาท ขยับเป็นตารางวาละ 100,000-200,000 บาท หากเริ่มเปิดให้บริการ ราคาที่ดินจะขยับขึ้นได้อีก
เข็นผังเมืองปากช่อง คุมเข้ม
จากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้างได้ไม่จำกัด และอาจลุกลํ้าเขตป่า เขตอุทยานส่งผลให้กรมโยธาธิการ และผังเมือง ประกาศกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัดนครราชสีมาควบคุมมาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้นักลงทุน ไม่สามารถก่อสร้างอาคารได้อิสระตามใจชอบ เนื่องจากอำเภอปากช่องเติบโตมากมีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาโครงการกันมากจึงเร่ง ยกร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมชุมชนอำเภอปากช่อง
แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า มีความเข้มงวด มีการกำหนดโซนห้ามพัฒนา ในพื้นที่เขตป่า เขตอนุรักษ์ เขตทหาร เขตป่าต้นนํ้า ฯลฯ ที่ดินสีเขียวทแยงขาว (เขียวลาย) ประเภทชนบทและเกษตรกรรม และที่ดินเขตปฏิรูป ส่วน แนวถนนธนะรัชต์ จะกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว และ ที่ดินปฏิรูป
โดยพื้นที่สีเขียวพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ แต่มีส่วนหนึ่งขึ้นไป บริเวณ ทางหลวงแผ่นดิน 2090 ซึ่งเป็นชุมชน ที่เป็นทั้งพื้นที่ป่าและพื้นที่ปฏิรูปที่จะกำหนดให้ชุมชนอยู่กับป่าอย่างสมดุล ขณะพื้นที่ สีส้ม (ที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) และพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยประเภทพาณิชยกรรม) พัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมและพาณิชย์ได้ซึ่งจะอยู่ ริมทางรถไฟสายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือถนนพิมพาราม
บิ๊กทุนคึกปักหมุดเขาใหญ่
จากความคึกคักเอกชนเข้าพื้นที่ปากช่อง-เขาใหญ่ ที่ผ่านมา มีโครงการบ้านพักตากอากาศจำนวนมาก และปัจจุบัน เริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น ล่าสุด บันยันทรี กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการชั้นนำของโลกที่มีแบรนด์โรงแรมในเครือมากมาย จับมือกับบริษัท เครสตั้น โฮลดิ้ง จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทยเผยโฉม “บันยันทรี เรสซิเดนซ์ เครสตัน ฮิลล์” โครงการ Branded Residences ระดับลักชัวรีแห่งแรกของเขาใหญ่ด้วยมูลค่าโครงการรวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่โครงการซึ่งเป็นที่ดินผืนใหญ่ขนาด 226 ไร่ และมีทะเลสาบขนาด 30 ไร่ใจกลางโครงการ
ด้วยทำเลที่โอบล้อมด้วยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ได้รับการประกาศเป็นผืนป่ามรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ทำให้โครงการเป็นที่พักอาศัยที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด
เช่นเดียวกับ บริษัท เคพีเอ็น เรสซิเดนซ์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านพักตากอากาศสุดหรูระดับลักชัวรี่ สไตล์รีสอร์ทตากอากาศคาซ่า วาคานซ่า เขาใหญ่ รับดีมานด์เติบโตสูง ไฮสปีด มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราชดันเขาใหญ่ จุดหมายปลายทาง รองจากภูเก็ต
ยักษ์เซ็นทรัล แม่เหล็กโคราช
ขณะย่านเขตเมือง บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมาประกอบด้วยศูนย์การค้า โรงแรม และคอนโดมิเนียม มีพื้นที่รวมเฉพาะส่วนศูนย์การค้าใหญ่เป็นอันดับ 3 ของศูนย์การค้าโดยกลุ่มเซ็นทรัล รองจากเซ็นทรัลเวิลด์และเซ็นทรัล เวสต์เกต ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 65 ไร่ติดถนนมิตรภาพขาเข้าเมืองนครราชสีมา รวมถึง เทอร์มินอล 21 โคราช อีกแม่เหล็กสำคัญของเมือง และที่น่าจับตาคือทำเล ตำบลขามทะเลสอ ซึ่งเป็นจุดขึ้นลงมอเตอร์เวย์ ที่มีโครงการบ้านจัดสรร โชว์รูมวัสดุรายใหญ่เข้ามาเติมเต็มเช่น ไทวัสดุ เป็นต้น
คมนาคมปูพรมโครงข่าย
นอกจาก ไฮสปีด ไทย-จีน และมอเตอร์เวย์ แล้ว กรมทางหลวง (ทล.) มีแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางระยะ 20 ปี (พ.ศ.2566-2585) ภายใต้การศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway -Rail Map: MR-MAP) โดยเป็นการพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับราง 3,543 กม. ช่วยลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ ลดค่าเวนคืนทั้งหมด 200,000 ล้านบาท
ทั้งนี้กรมฯได้จัดทำแผนพัฒนา 20 ปี (ปี 2566-2585) เพื่อลำดับความสำคัญในด้านความพร้อม สภาพพื้นที่ และปริมาณการจราจร พบว่ามีโครงการที่กรมเร่งผลักดันในจังหวัดนครราชสีมา ระยะทางรวม 662 กิโลเมตร จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 439,709 ล้านบาท
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 84,600 ล้านบาท เบื้องต้นกรมได้กำกับ ติดตาม และลงพื้นที่ตรวจ ตั้งแต่ช่วงปากช่องถึงถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204)
คาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ-ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ทล.204) รวมระยะทาง 80 กิโลเมตร ทั้ง 2 ทิศทาง (ขาไปและขากลับ) ตลอด 24 ชั่วโมง ในปลายเดือนธันวาคม 2566 เพื่อรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 และอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท แบ่งงานก่อสร้างโยธาเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันความคืบหน้าภาพรวมของโครงการ อยู่ที่ 25.09% ตามแผนคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571