วันที่ 10 ม.ค. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ชี้แจงกรณีการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) และการขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็น ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ว่า เรื่องผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องยากเพราะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และต้องฟังผู้เชี่ยวชาญ ประเด็นที่บอกว่าผังเมืองเอื้อประโยชน์นายทุนนั้น
"ขออย่าให้ใช้คำนี้เลยเพราะเป็นการสร้างวาทกรรมที่ทำให้เกิดความแตกแยก ขอให้คุยกันด้วยเหตุผลเราพร้อมจะฟังทุกเหตุผล ผังเมืองที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นทำกันมาต่อเนื่อง และพยายามทำให้ดีขึ้น และทุกอย่างที่เพิ่มเติมนักวางผังเมืองต้องมีคำอธิบายว่าทำไมถึงเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้น"
ฉะนั้นขออย่าให้ใช้คำว่าเอื้อนายทุนเพราะคนที่มีบุญคุณกับเราคือประชาชน เราอยู่ตรงนี้ได้เพราะประชาชนเลือกมา เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับผังเมืองนั้น การดูจุดเดียวไม่ได้สะท้อนทั้งเมือง การแก้ผังเมืองสีแดงจุดเดียว ไม่ได้ทำให้คนทั้งกรุงเทพฯ ดีขึ้น
นโยบายที่เราให้ไปคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่บ้านกับที่ทำงานอยู่ห่างกันคุณภาพชีวิตจะแย่ลง เราอยากเห็นกรุงเทพฯ ที่คนสามารถหางานที่อยู่ใกล้บ้านมากขึ้น หรือเอางานไปอยู่ใกล้บ้านมากขึ้น ก็จะเห็นการทำผังเมืองที่มีโซนสีแดงที่มีนบุรี หนองจอก หวังว่าจะมีการทำออฟฟิศที่ใกล้บ้านเขา หรือว่ามีการเพิ่มโซนสีส้มแถวประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อให้คนสามารถอยู่ใกล้งานได้มากขึ้นไม่ต้องไปอยู่แถววงแหวน ทุกอย่างมีเหตุผลและเราพร้อมรับฟัง ไม่อยากให้เริ่มต้นด้วยความขัดแย้ง และเรายินดีเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้
นายชัชชาติระบุว่า“รู้สึกดีใจและขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจเรื่องผังเมือง เพราะผังเมืองก็เหมือนธรรมนูญเมืองเราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งผังเมืองยังมีข้อต้องปรับปรุงอีกเยอะ และผังที่เห็นวันนี้ไม่ใช่เราทำทั้งหมดแต่เป็นผังที่ทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2542 เราพยายามทำให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันมากขึ้น และพร้อมจะฟังเหตุผลของประชาชน”
สำหรับช่องทางการแสดงความคิดเห็นต่อการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้แก่
1. ยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเองต่อเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง
2. ส่งทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400
3. ยื่นทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร https://webportal.bangkok.go.th/cpud
4. ยื่นทางเว็บไซต์โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร https://plan4bangkok.com