นายกสมาคมอสังหาฯ ฉะเชิงเทราใหม่ เผย 7 นโยบาย รับแผนพัฒนา EEC ฝ่าวิกฤตยอดโอนลด

17 ก.ย. 2567 | 23:03 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 03:02 น.

ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล รับตำแหน่งนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ชูฉะเชิงเทราเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน พร้อมสานต่อนโยบายพัฒนา EEC ฝ่าวิกฤตยอดโอนหดตัวจากพิษปฏิเสธสินเชื่อสูง

ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล รับตำแหน่งนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา พร้อมตั้งเป้าสานต่อนโยบายพัฒนาเมืองและขานรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มุ่งเน้นให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าลงทุน

โดยเชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดยังคงมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาว แม้ว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ในปีนี้จะหดตัวลงจากปัจจัยที่ลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

โดยนโยบายหลัก ของ ดร.สืบวงษ์ มุ่งเน้น 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. ส่งเสริมฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน ด้วยความเงียบสงบ การผสมผสานวิถีชีวิตเมืองและชนบท อีกทั้งความสะดวกในการเดินทางสู่กรุงเทพฯ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่เป็นที่ดึงดูดใจ เช่น วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตลาดน้ำบางคล้า และแม่น้ำบางปะกง

  2. แก้ไขปัญหาแนวถนน

  3. จัดการผังเมือง

  4. บริหารจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

  5. พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขนส่งในแม่น้ำบางปะกง

  6. ผลักดันมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสนับสนุนนการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และผ่อนปรนมาตรการ LTV เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

  7. ขานรับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมในพื้นที่

ดร.สืบวงศ์ ยังเผยว่า ศักยภาพการเติบโตของจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีโอกาสในการลงทุนสูง

เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่น รถไฟความเร็วสูง การเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ อุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงทำให้ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่น่าสนใจทั้งในการอยู่อาศัย ท่องเที่ยว และการลงทุน

การเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงส่งผลให้ราคาที่ดินมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัยบ้านจัดสรรก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยจากแรงงานและผู้บริหารในพื้นที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ เข้ามาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหลายราย อาทิเช่น บริษัท บริทาเนีย และ บริษัท ศุภาลัย

ซึ่งสอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 64% และมีมูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%

โดยการลงทุนในภาคตะวันออกมากที่สุด จำนวน 625 โครงการ คิดเป็น 44% ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 211,569 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของเงินลงทุนทั้งหมด

อย่างไรก็ตามยอดโอนกรรมสิทธิ์ปี 2566 ที่ผ่านมา เฉพาะอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง ยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด 1,834 ยูนิต แบ่งเป็น ไตรมาส 1/2566 จำนวน 404 ยูนิต ไตรมาส 2/2566 จำนวน 411 ยูนิต ไตรมาส 3/2566 จำนวน 562 ยูนิต ไตรมาส 4/2566 จำนวน 457 ยูนิต

ทาวน์โฮมมียอดโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด จำนวน 577 ยูนิต คิดเป็น 31.46% แต่เมื่อดูจากจำนวนมูลค่าแล้ว บ้านเดี่ยวมีมูลค่าสูงที่สุด มูลค่า 2,226.06 ล้านบาท คิดเป็น 38.95%

เมื่อเทียบกับยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 1/2567 จำนวน 303 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 951.68 ล้านบาท โดยบ้านแฝดมียอดโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุดมีมูลค่า 365 ล้านบาท คิดเป็น 38.38%

จะเห็นได้ว่ามีการลดลง เนื่องจากมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารสูง บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงทำให้ลูกค้าบางกลุ่มยกเลิก หรือตัดสินใจชะลอการโอนกรรมสิทธิ์

ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล

ดังนั้นในฐานะนายกสมาคมฯ จึงอยากผลักดันมาตรการอสังหาฯ ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งจะหมดภายในปีนี้

นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลช่วยผ่อนปรนมาตรการ LTV พร้อมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้โอกาสคนที่ต้องการมีบ้านหลังที่ 2 ได้รับสินเชื่อมากขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลเองควรสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชน มีความต้องการบ้านสูงกว่าเกินวงเงินที่รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ