เนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ กำลังขยายไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มใหม่ที่อยู่ในกระแสความนิยม นั่นคือ อาหารเนื้อสัตว์เทียมที่ทำมาจากวัตถุดิบที่เป็นพืช หรือที่เรียกว่า plant-based alternatives ซึ่งในปีที่ผ่านมา ทำยอดขายให้กับบริษัทถึง 168 ล้านปอนด์ หรือเกือบ ๆ 7,000 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนสท์เล่เผยโฉมผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้ แบรนด์ “วูน่า” (Vuna) สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น สายมังสวิรัติ (vegetarian) หรือ สายเจ (vegan) แต่ชื่นชอบรสชาติของปลาทูน่า เรียกง่ายๆว่า “ทูน่าเจ” เพราะรสชาติและสัมผัสนั้นคล้ายเนื้อปลาทูน่า แต่ผลิตมากจากถั่วประเภทถั่วเขียวและวัตถุดิบจากพืชอีก 5 ชนิด
เนสท์เล่เผยว่า การปลูกพืชผักที่เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าทูน่าเจในแบรนด์ “วูน่า” ใช้ที่ดินไม่มาก และใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อย ทั้งยังสามารถเพาะปลูกในภูมิอากาศหนาวเย็น จึงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลจาก มูลนิธิ International Seafood Sustainability Foundation ในอังกฤษ ระบุว่า ปลาทูน่าราว 13% ในตลาดปัจจุบันมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่ทำการจับปลามากจนเกินกำลังผลิต ซึ่งหมายความว่า มีการจับปลามากเกินไปจนปลาในแหล่งธรรมชาติร่อยหลอและโตไม่ทัน ขณะที่ข้อมูลอีกด้านชี้ว่า ผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งรวมถึงอาหารทะเลก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ที่ระบุว่าตัวเองเป็นสายเจ คือไม่สนับสนุนการบริโภคเนื้อสัตว์ และไม่ใช้สินค้าใด ๆ ที่ทำจากเนื้อและหนังของสัตว์ ที่เรียกว่า ชาว“วีแกน” (Vegan) นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในประเทศอังกฤษ แม้จะยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด แต่ก็เป็นเทรนด์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบัน เนสท์เล่ มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกที่ทำจากพืชสำหรับผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์จำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลาย เช่น เนื้อสัตว์เทียมสำหรับทำเบอร์เกอร์ เนื้อเทียมบด ลูกชิ้น-ไส้กรอกเจ ไก่นักเก็ตเจ ฯลฯ ยอดขายปีที่ผ่านมาทะยานแตะหลัก 168 ล้านปอนด์
นายสเตฟาน พัลเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของเนสท์เล่ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อปลา (ซึ่งผลิตจากพืช)นี้จะช่วยลดปัญหาการจับปลามากเกินไปของอุตสาหกรรมประมงและช่วยรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศในท้องทะเลด้วย บริษัทจะยังคงเดินหน้ากับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในกลุ่มนี้ต่อไป และปัจจุบัน ประมาณ 10% ของเจ้าหน้าที่ในแผนก R&D ของเนสท์เล่ ก็ทุ่มเทพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้เป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“เนื้อเทียม”ทางเลือกจากพืชตลาดสายกรีนที่กำลังมาแรง
EICวิเคราะห์อิทธิพลFlexitarianต่อธุรกิจอาหาร
ผ่ายุทธศาสตร์ ‘เนสกาแฟ’ เชื่อมแวลูเชน ยํ้าเบอร์1
เนสกาแฟฯ ทุ่ม 100 ล. ส่งกาแฟคราฟท์รุกตลาด