ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งถือเป็นธนาคารของธนาคารกลาง ได้ออกมาเตือนว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐจะเป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีหนี้สินสกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก
อัตราหนี้สินสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของตลาดเกิดใหม่เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบแตะระดับ 10% แล้ว จากเพียง 3.5% สมัยวิกฤติการเงินโลกปี 2551
นักวิจัยของ BIS พบว่า การที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 1% เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินนั้น จะทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาปรับตัวลดลง 0.3%
BIS เปิดเผยว่า สิ่งนี้เคยปรากฏให้เห็นแล้วในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรก ซึ่งขณะนั้นดัชนีดอลลาร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จนส่งผลให้เกิดพันธบัตรไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ทำสถิติเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูทิศทางมาตรการเยียวยารอบใหม่ของสหรัฐ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ณ เวลา 19.31 น.ตามเวลาไทย วันที่ 7 ธันวาคม 2563 ดัชนีดอลลาร์อยู่ที่ระดับ 91.00 หรือเพิ่มขึ้น 0.33%
นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินยูโร เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงกรณีที่อังกฤษถอนตัวออกจากยุโรป หรือ Brexit นั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาด โดยเงินยูโรอ่อนค่าลง 0.1% เทียบดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง 1.24%