บักกุ๊ดเต๋น้ำใส Old Street

11 พ.ย. 2566 | 00:59 น.

บักกุ๊ดเต๋น้ำใส Old Street คอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ โดย Joie de La Cuisine

บักกุ๊ด แปลว่า กระดูกหมู
เต๋ แปลว่า น้ำชา
บักกุ๊ดเต๋จึงแปลรวมๆว่า กินกระดูกหมูกับน้ำชา

เมื่อราวสักสามสี่ปีมาแล้วได้ชวนท่านผู้อ่านไปชิมบักกุ๊ดเต๋ชนิดว่า “แท้ๆ” ต้นตำรับ กันถึงเกาะหมากปีนัง ท่านที่ยังคิดถึงบทความรสโอชาอันเก่าก็สามารถติดตามได้ที่ในตอน ‘บักกุ๊ดเต๋ กับข้าวช่องแคบ’ ของฐานเศรษฐกิจลงระบบออนไลน์ไว้เมื่อปี 62 ซึ่งได้อธิบายบรรณาการกำนัลท่านไว้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกับข้าวช่องแคบเมนูนี้ว่าทำไม๊มันถึงจำเพาะเจาะจงจะต้องมีอยู่แต่บริเวณช่องแคบ
 
อย่างไรก็ดี บักกุ๊ดเต๋อย่างช่องแคบแถบปีนังมะลักกานั้นออกสีเข้ม สีข้น (จะเรียกตามนิยามก๋วยจั๊บน้ำข้นไทยก็พออนุโลมเรียกได้)

ดีแต่ว่ามาวันนี้หนังสือเดินทางเกิดหมดอายุ จึงเดินทางไปทำที่ห้างมาบุญครองชั้นห้า สำเร็จเรียบร้อยลงมาชั้นล่างเห็นร้านอาหารกรุกระจกใสใส ท่าทางชอบกลร้านหนึ่งตั้งอยู่ แกใช้ชื่อว่า OLD STREET BAK KUT TEH (MBK CENTER) จึงได้เวลาพาขาสองข้างเข้าไปทดลองชิมรส
 
ตามธรรมเนียมแล้วมันก็ต้องเรียกเอาตัวเมนูคลาสสิกชูโรงของเขา ขึ้นมาตั้งว่าการประจำโต๊ะเสียก่อนจากนั้นจึงค่อยพิจารณาว่าอาหารจานหลักที่เขานำเสนอเหมาะแก่การรับประทานด้วยน้ำชาประเภทใด
 
ไม่ช้านานเขาก็ยกซี่โครงหมูตุ๋นเปื่อยๆแผ่นใหญ่ใหญ่ใส่ชามใบโตมาให้หนึ่งชาม โครงหมูตุ๋นอันนี้ดูขาวๆไม่เข้มสี แถมมีหัวกระเทียมต้มลอยมาทั้งหัวทั้งเปลือกอีกหนึ่ง ปล่อยให้ตะลึงงวงงงกับความแห้งเหือดของจานอาหารไม่สักกี่วินาที
 
บริกรก็นำน้ำซุปในกาเหล็กซึ่งร้อนฉ่ามาเติมรดราดซี่โครงลงไปในถ้วยชามให้...บร้ะ งานนำเสนอเขานี่ไม่ธรรมดา


 

ซดน้ำซุปอันร้อนนั้นเข้าไปแล้วก็ต้องอื้อหือ ขอชื่นชม ด้วยเขาเคี่ยวปรุงมารสชาติแน่น เผ็ดร้อนพริกไทยขาวเข้าจมูก รับประทานแล้วร้อนวาบหายใจโล่ง เป็นความโล่งใจคนละประเภทกับน้ำซุปพริกไทยขาวซึ่งตั้งเตาต้มเคี่ยวทำก๋วยจั๊บอยู่แถวเยาวราช มันแน่นกว่า ข้างส่วนพริกไทยนั้นก็ร้อนมากกว่าเผ็ด
 
สืบได้ความว่าเป็นร้านสาขามาเปิดจากสิงคโปร์และมีความพยายามจะบริการคนไทยให้ถูกปากโดยการเสริมน้ำจิ้มแบบไทยเข้ามาให้เป็นกรณีพิเศษก็คือน้ำจิ้มพริกตำสีแดงเข้าน้ำส้ม เสริมกับน้ำจิ้มซีอิ๊วดำเค็มรสหนักของเขาที่ลอยพริกสดหั่นขวางมาด้วยรสชาติอย่างนี้ก็ต้องเรียกหาข้าวสวยมารับประทาน ไปพร้อมๆกับปาท่องโก๋ตัวโตๆเอาไว้จุ้มซับน้ำซุปร้อนๆที่คอยมาบริการเติมให้โดยไม่ขาดไม่พร่อง
 
ข้างเมนูชาก็มีให้เลือกหลายประการทั้งชาพระแม่กวนอิมฝ่ามือเหล็ก ชาเขียว ชาดำโป๊วเหลย


 
วันนี้ได้ชิมรสชาติที่หนาหนักแล้วก็คิดว่าชาดำโป๊วเหลยจะเหมาะสมที่สุด เขาชงใส่ป้านซามาบริการชิมดูแล้วรสชาติหอมปากหอมคอเข้ากันดีเปนปี่ขลุ่ย อาหารจานเคียงที่ไม่ควรพลาดเลยก็คือฟองเต้าหู้ต้มพะโล้ รับประทานเบาๆโดยหอมกลิ่นและไม่หนักไขมัน
 
กับข้าวอื่นๆของเขาที่น่าสนใจยังมีอีกมากไม่ว่าจะเป็นผักสดๆผัดตีน้ำมัน ขาหมูพะโล้ ของทอดต่างๆ ผักโขมเอามาผัดไข่เยี่ยวม้าทำหม้อดิน มีแม้กระทั่งโจ๊กกบที่ทำสด มีบักกุ้ดเต๋กบน้ำใสอีกด้วย
 
เวลานี้ชวนให้คิดถึงกบผัดเครื่องซีอิ้วดำ ราดบนข้าวโจ๊กเนื้อเนียน ตามถนน Geylang ขึ้นมาทันที!

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18  ฉบับที่ 3,939 วันที่ 12 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566