“กลัวการแยกจาก” ภาวะจิตซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง

26 ต.ค. 2567 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 08:46 น.

“กลัวการแยกจาก” ภาวะจิตซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง : Tricks for Life

หลายคนมองว่าการที่เด็กร้องไห้ฟูมฟายไม่ยอมไปโรงเรียน หรือผู้ใหญ่ทำงานไม่ได้เพราะคิดถึงลูกตลอดเวลา เป็นเรื่องปกติ แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นอาการแสดงของ “โรคกลัวการแยกจาก” (Separation Anxiety Disorder) เป็นภาวะทางจิตที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังความกลัวที่สามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

“กลัวการแยกจาก” ภาวะจิตซ่อนเร้นที่ต้องเฝ้าระวัง

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital เล่าให้ฟังว่า โรคกลัวการแยกจาก เป็นภาวะทางจิตที่ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวหรือมีความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อต้องแยกจากบุคคลที่ตนรักหรือสถานที่ที่คุ้นเคย เช่น กลัวว่าจะถูกทิ้ง กลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับคนที่ตนรัก กลัวว่าตัวเองจะหลงทาง

อาการกลัวการแยกจากพบบ่อยในเด็กเล็กที่อายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน บางคนที่อาการรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเช่น การทำงาน การเรียน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งมีอาการของโรคดังนี้

• กังวลและกลัวเป็นอย่างมากเมื่อต้องแยกจากคนที่รัก

• กลัวว่าคนที่รักจะเป็นอันตรายเมื่อต้องแยกจากกัน

• รู้สึกเหงา โดดเดี่ยวเมื่ออยู่คนเดียว

• อยากรู้ว่าอีกฝ่ายทำอะไร อยู่ที่ไหน ตลอดเวลา

• กลัวการอยู่คนเดียว

• ตื่นตระหนก อารมณ์ฉุนเฉียว ในเวลาที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือคนที่รัก

• แสดงอาการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ

สาเหตุของโรควิตกกังวลจากการแยกจากกัน

อาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พื้นอารมณ์ของเด็กที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ปัจจัยทางจิตใจและสิ่งแวดล้อม เช่น เหตุการณ์ความเครียดที่ทำให้ต้องแยกจาก พลัดพราก สูญเสียคนที่รัก การย้ายบ้านหรือเปลี่ยนโรงเรียน การถูกเลี้ยงดูในลักษณะปกป้องหรือประคบประหงมมากเกินไป สมาชิกในครอบครัวมีความวิตกกังวลหรือความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ และการที่เด็กไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัยกับพ่อแม่หรือผู้ดูแลได้

นพ.ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์

การรักษาโรคกลัวการแยกจาก ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • จิตบำบัด (Psychotherapy) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจการเจ็บป่วยและลดความวิตกกังวล ปรับตัวต่อภาวะแยกจากได้ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะจัดการกับความคิดและความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล และพัฒนาทักษะในการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ตนกลัว
  • ในบางราย อาจมีการพิจารณาใช้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการวิตกกังวล เช่น ยาต้านเศร้า หรือยาลดความวิตกกังวล เพื่อให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ และร่วมมือกับการทำจิตบำบัดได้ดีขึ้น

โรคกลัวการแยกจาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สามารถนำไปสู่การเกิดโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ เช่น โรคแพนิก หรือ โรควิตกกังวล ดังนั้นหากสังเกตพบว่า บุตรหลานมีอาการวิตกกังวลมากจนเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำให้รีบมาพบจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

คอลัมน์ Tricks for Life หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,039 วันที่ 27 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2567