วัตรของพระพุทธศาสนาแห่งรามัญ หลากหลายข้อวัตรปฏิบัติได้อนุโลมปฏิโลมอยู่เป็นธรรมเนียมอาเขตของพระภิกษุในธรรมยุติกนิกาย หรือ คณะสงฆ์ธรรมยุต เป็นวัตรปฏิบัติที่ถือกันมาตั้งแต่ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสวิหารแล้วย้ายศูนย์รวมไปวัดบวรนิเวศ โดยพระวชิรญาณเถระ(ในหลวงรัชกาลที่4 ขณะทรงผนวช) เป็นผู้ก่อตั้งชำระพระธรรมวินัยข้อวัตรต่างๆ ให้ถูกต้อง
ในตำราอานิสงส์โบราณ ที่ชาวรามัญนับถือกันมานั้นบันทึกเอาไว้ว่า
"ผู้ใดบรรพชา ผู้นั้น ทำให้พ่อแม่ทุกภพชาติตลอดทั้งพ่อแม่ตลอดทั้งชาตินี้ ได้อานิสงส์แห่งบุญ มากถึง 32 กัป
ผู้ใดอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ผู้นั้น ทำให้พ่อแม่ ทุกภพชาติตลอดทั้งชาตินี้ ได้อานิสงส์แห่งบุญ มากถึง 64 กัป"
เขียนถึงตรงนี้ ทำให้จิตใจปิติ เมื่อนึกถึงการบรรพชาอุปสมบทที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จุดที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งในแต่ละปีก็มีชาวไทยชาวศรีลังกา แม้แต่ชาวไต้หวันไปบรรพชาอุปสมบทกันมากมาย แต่มีคณะของประเทศไทยเท่านั้น ที่ได้ไปบรรพชาอุปสมบทที่นั่นทุกปี และครั้งหนึ่งอย่างน้อยก็ร้อยรูป ซึ่งจัดโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ
โครงการบวชพุทธภูมิ ที่หลวงพ่อสมเด็จธีรญาณมุนี ท่านดำริเป็นโครงการมาถึงปัจจุบันได้จัดมาแล้ว มากมายหลายสิบรุ่น ญาติธรรม ต่างร่วมอนุโมทนา ในโครงการนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้โครงการนี้สามารถจัดได้อย่างต่อเนื่อง เพราะความใส่ใจ และจริงจัง ในการบริหารจัดการ จึงทำให้ เกิดศรัทธาในญาติธรรมอย่างแรงกล้า เพียงแค่ผู้ใดปรารถนาที่จะบรรพชาอุปสมบท ทางโครงการก็จัดการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
การบวชครั้งหนึ่งใช้เวลา 15 วัน โดยเมื่อบวชแล้ว 10 วัน ได้เดินทางไปสวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติธรรมทั้ง 4 สังเวชนียสถาน ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และ ปรินิพพาน อีก 5 วัน จำวัดที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ แล้วลาสิกขาบท การบริหารจัดการของโครงการดี อาหารการกิน ตระเตรียมไปจากเมืองไทย นำไปประกอบที่อินเดีย เพื่อความปลอดภัยทางด้านโภชนาการ น้ำดื่มก็นำไปจากเมืองไทยเช่นกัน เงินทองปัจจัยต่างๆ นั้นใครที่ถวายหลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านก็ให้จัดทำเป็นผ้าป่าทอดแล้วมอบให้ทางวัดไทยที่อินเดียเลย
เพื่อนผมหลายคนไม่ว่าจะตำรวจ ทหาร นักการเมือง เมื่อได้ไปบวชในโครงการแล้วต่างก็ชื่นชมในการบริหารจัดการ ตลอดทั้งเรื่องหยูกยา อาหาร น้ำ และ ข้อวัตรปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอิ่มเอิบเบิกบานในธรรมและรู้จักคำว่าความสงบในชีวิตมากขึ้น
ตลอดเส้นทางไป 4 สังเวชนียสถาน พบวัดไทยตามเส้นทาง หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านก็แวะและทอดผ้าป่าเพื่อมอบปัจจัยให้ทางวัดนั้นไปทำสาธารณกุศล ผู้ที่เคยผ่านการบวชในโครงการบวชพุทธภูมิ จะมีศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นเองกันทุกคน เพราะได้รู้ได้เห็นสถานที่จริง ได้ปฏิบัติจริง แม้แต่ผู้ติดตามที่คอยไปดูแลพระนวกะ ที่บวชในโครงการก็ต้องปฏิบัติธรรมถือศีลอุโบสถ หรือ ศีลแปด ด้วยเช่นกัน
อ.กุลดิลก มีแสงนิล ผู้เคยบวชในโครงการวปก.รุ่น 15 เล่าให้ฟังว่า ใครที่ได้ไปบวชและศึกษาธรรม ที่อินเดียกลับมาต่างมีชีวิตที่สุขสงบ มีชีวิตดีขึ้นไปตามลำดับ อะไรที่ติดๆ ขัดๆ ก็ราบรื่นทั้งในทางโลกและทางธรรม ปัจจุบันในยามที่ว่างจากงานวิทยากร/ที่ปรึกษา ก็จะไปช่วยงานของหลวงพ่อสมเด็จฯ ตามเหตุปัจจัยสมควร
จะว่ากันโดยรวม การบวชพระ บุคคลที่บวชก็ได้อานิสงส์มิใช่น้อยเช่นเดียวกัน และยิ่งได้ไปในที่ 4 สังเวชนียสถาน ย่อมได้อานิสงส์เพิ่มขึ้น อย่างน้อย ความปิติเบิกบานในใจเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะอย่างแน่นอน พระภิกษุผู้คงแก่เรียน บางรูป ยังไม่เคยมีโอกาสได้เดินทาง ไปใน 4 สังเวชนียสถาน การบวชนั้นก็ดูเหมือนจะ คล้ายข้าวรอฝน ที่ต้องทนอยู่กับความแห้งแล้ง จะว่าเป็น เหมือนรวงข้าวที่รอเคียวก็หาใช่ ดังนั้น ท่านใดที่มีโอกาสเดินทางไป ในประเทศอินเดีย นับว่า เป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง ของชีวิต