สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สรุปผลการบรรลุเป้าหมายของแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2565 ซึ่งเป็นช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า แม้ สถานการณ์ความยากจน ของไทยดีขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น และการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมายของแผน แต่ก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับภาคยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข
สถานการณ์ความยากจน ในประเทศไทยดีขึ้น สัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2560 (ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12) ซึ่งอยู่ที่ 7.87% ที่เส้นความยากจน 2,686 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลงเป็น 6.32% ที่เส้นความยากจน 2,803 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2564 เป็นไปตามกรอบของเป้าหมายที่กำหนดให้คนยากจน ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ลดลงเหลือต่ำกว่า 6.5%
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างเข้มข้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางในสังคม ทั้ง คนยากจน และผู้มีรายได้น้อย ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 ระยะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - ธันวาคม 2564
เช่นเดียวกับการช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน รวมทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา การลดค่าเทอมนักเรียนและนักศึกษา และการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 39 และ 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
รายได้ต่อหัวของคนไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ตั้งเป้าหมายให้รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 8,200 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 เป็นต้นมา ต่อเนื่องถึงในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP-Per-capita) เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด มีเพียงปี 2565 ปรับลดลง ดังนี้
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ปรับตัวดีขึ้น โดยความแตกต่างของรายได้ของกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้สูงที่สุดต่อรายได้ของประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดมีแนวโน้มลดลงจาก 2.50 เท่า ในปี 2560 เหลือ 2.20 เท่า ในปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ประชากร 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดนั้น มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้ช่องว่างสัดส่วนรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้
โดยรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรที่มีรายได้ต่ำที่สุดนั้นเพิ่มขึ้นจาก 3,425 บาทต่อคนต่อเดือน ในปี 2560 เป็น 3,921 ต่อคนต่อเดือน ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวในช่วงปี 2560 - 2564 พบว่า อัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 2.7% ต่อปี ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้เพิ่มขึ้น 15% ต่อปี
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างประชากรในกลุ่มนี้ประมาณครึ่งหนึ่ง (50.87%) เป็นผู้ไม่มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economically Inactive) ได้แก่ผู้สูงอายุ/เด็กเล็ก เด็กนักเรียน แม่บ้าน ผู้ป่วย ผู้พิการ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและมีการศึกษาระดับประถมศึกษา ทำให้มีข้อจำกัดในการยกระดับรายได้
ประกอบกับ ในช่วงปี 2563 - 2564เกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลง กระทบกับรายได้ประชากร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย จึงทำให้อัตราการขยายตัวของรายได้ประชากรในกลุ่มนี้ ยังไม่บรรลุตามค่าเป้าหมาย
เช่นเดียวกับค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini Coefficient) มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีค่าลดลงจาก 0.453 ในปี 2560 เป็น 0.430 ในปี 2564 แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ลดลงเหลือ 0.41 ณ สิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ประเทศต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการต่อไป
ช่องว่างรายได้ระหว่างภาค และการกระจายรายได้ภายในภาคมีแนวโน้มดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว (GRP per capita) ระหว่างภาคตะวันออก (เฉลี่ยสูงสุด) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เฉลี่ยต่ำสุด) มีความแตกต่างลดลงจาก 5.38 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 5.0 เท่า ในปี 2564 และสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ระดับภาคปรับตัวลดลงจาก 0.453 ในปี 2560 เป็น 0.430 ในปี 2564
ทั้งนี้ สศช. สรุปข้อมูลว่า การพัฒนาประเทศตลอดช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นผลการพัฒนาที่ดีขึ้น แต่ยังมีประเด็นการพัฒนาหลายด้านที่ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยประเด็นต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาในระยะต่อไปในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศไปตามทิศทางที่กำหนดและบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป