แบงก์ชาติ เสียงแข็ง “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ล็อกเป้าแจกคนจนก่อน

06 ก.ค. 2567 | 01:19 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ค. 2567 | 01:28 น.

แบงก์ชาติ ยืนยันคำเดิม “เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ผ่าน Digital Wallet หลังรัฐบาลไฟเขียวข้อเสนอทำงบกลางปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้าน จี้ใช้จ่ายงบประมาณให้ทันสิ้นปีงบ ล็อกเป้าแจกคนมีรายได้น้อยก่อน

ความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันนโยบายเรือธง “เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” ผ่าน Digital Wallet มีความคืบหน้าเป็นระยะ โดยเฉพาะการจัดเตรียมแหล่งวงเงินเพื่อใช้ในโครงการ ล่าสุดที่ประชุม ครม.สัญจร จังหวัดนครราชสีมา มีมติเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... กรอบวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นแหล่งเงินส่วนหนึ่งของโครงการนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ โดยมีเนื้อหาระบุว่า 

ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0506/ว(ล) 13462 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2567 เรื่อง ข้อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

ธปท. พิจารณาแล้วมีข้อสังเกตว่า การจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะส่งผลให้การขาดดุลงบประมาณปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพด้านการคลัง จึงควรพิจารณาจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าควบคู่ไปด้วย อาทิ ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกระทำได้ เมื่อมีเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ 

จึงควรใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมนี้ให้ทันภายในสิ้นปีงบประมาณ 2567 และอาจพิจารณาจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ (targeted) โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประสิทธิผลและเป็นไปอย่างคุ้มค่าต่อไป

สำหรับมติของที่ประชุมครม.ครั้งนี้ ได้ลงมติรับทราบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอ และให้สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย