ลุ้นไตรมาส 4 โต บิ๊กเอกชนชี้เศรษฐกิจไทย เดินฝ่าปัจจัยท้าทาย

20 ก.ย. 2567 | 22:00 น.

ชี้ไตรมาส 4 ยังต้องลุ้น บิ๊กเอกชนหวั่นความท้าทายเพียบทั้งการเมือง ส่งออก การบริโภคในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ค้าปลีกฮึดสู้อัดอีเว้นท์ปลุกมูดนักช้อป อานิสงส์นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มดันยอดขายห้าง แฟชั่น ร้านอาหารคึกคัก

เศรษฐกิจไทย ยังคงเผชิญความท้าทายรอบด้านทั้งด้านการเมือง การส่งออก การบริโภคในประเทศ ที่ล้วนเป็นความไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ประกอบการ SME ที่ต่างออกมาเปิดเผยถึงปัญหาการหดตัวของกำลังซื้ออย่างมีนัยสำคัญ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เศรษฐกิจในโค้งท้ายของปี ยังคงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันเสมือน “สึนามิเศรษฐกิจ” ที่กำลังซัดเข้าใส่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อย่างหนัก

ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าตั้งแต่ต้นปีคาดยาวนานต่อเนื่องทั้ง การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหญ่และต่างชาติ ทำให้ SME ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง ราคาพลังงาน วัตถุดิบ และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของ SME รวมถึงภาระหนี้สินที่สูงทำให้ SME หลายรายประสบปัญหาสภาพคล่องและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและราคาสินค้าทั่วโลก

เปิดทาง SME เข้าถึงแหล่งเงิน

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ SME หลายรายต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม การเข้ามาของกลุ่มทุน “กองทัพมด” (รายย่อย) และ “กองทัพช้าง” (รายใหญ่) ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจทั้งผิดกฎหมาย เอาเปรียบเอสเอ็มอีในประเทศ อาทิ ทัวร์ศูนย์เหรียญ หมูเถื่อน ไก่เถื่อน เช่าพื้นที่เกษตรของเกษตรกรควบคุมกลไกการผลิตถึงการตลาด เป็นต้น

ลุ้นไตรมาส 4 โต บิ๊กเอกชนชี้เศรษฐกิจไทย เดินฝ่าปัจจัยท้าทาย

รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหา ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ SME เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน อาทิ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหนี้สินในการปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มโอกาส ส่งเสริมให้ SME นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและการตลาด

“หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และอาจนำไปสู่การว่างงานเพิ่มขึ้น และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ”

อัดอีเว้นท์ปลุกมูดนักช้อป

นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า แม้ภาพรวมของค้าปลีกในครึ่งปีแรกจะทรงๆ แต่หลายธุรกิจเช่นธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น กลับมาคึกคัก ทำให้เชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะยังคึกคักต่อเนื่อง โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งบริษัทเตรียมจัดอีเว้นท์ใหญ่เฉลี่ย 2-3 อีเว้นท์เพื่อสร้างบรรยากาศและกระตุ้นการจับจ่าย ผนวกับอีเว้นท์ย่อยตลอดทุกเดือน เช่น เทศกาลฮาโลวีน เป็นต้น

“การจัดอีเว้นท์จะต้องคำนึงถึง 3 แกนหลักคือ 1. ต้องสนุก  2. ต้องเข้าถึงลูกค้าและสร้างการรับรู้ 3. ต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในไตรมาสสุดท้ายนี้ การจัดอีเว้นท์จะช่วยดึงให้คนออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่ในห้าง มากขึ้น นานขึ้น เมื่อมาก็ต้องจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ กินอาหาร ดูหนัง เมื่อการบริโภคมากขึ้น การใช้จ่ายก็มากขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าเบื้องต้นอาจจะประเมินว่าการจับจ่ายใช้สอยอาจจะน้อย ยอดใช้จ่ายต่อคนต่อครั้งอาจจะทรงตัว แต่หากสามารถกระตุ้นให้มาใช้บริการมากขึ้น เมื่อความถี่เพิ่มขึ้นยอดรายได้ร้านค้าก็จะดีไปด้วย”

ท่องเที่ยวฟื้น ร้านอาหารสดใส

นายจักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 4 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน มีผลมาจากจากปัจจัยบวกหลายประการได้แก่ ปัจจัยภายนอก อย่างการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ที่พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของร้านอาหารญี่ปุ่น ประกอบกับการเปิดประเทศ (วีซ่าฟรี) อย่างเต็มรูปแบบของรัฐบาล ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น

อีกทั้ง ไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่มีเทศกาลสำคัญหลายเทศกาล เช่น เทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ผู้คนมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และหันมาใช้บริการร้านอาหารมากขึ้น ซึ่งการมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนมีเวลาว่างในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน รวมถึงการรับประทานอาหารนอกบ้านด้วย

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ คือ กำลังซื้อภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาหารญี่ปุ่นเป็นที่นิยมของคนไทยอย่างต่อเนื่อง

ในมุมของผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่น มองว่าปัจจัยบวกเหล่านี้บ่งชี้ว่า ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 4 จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งจะปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก แต่บริษัทไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่น และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้ต้นทุนโดยรวมลดลง

กำลังซื้อซบ ลากยาวถึงสิ้นปี

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน กล่าวว่า เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจยังคงซบเซาและน่าจะซึมยาวไปจนถึงสิ้นปี เพราะสถานการณ์โดยภาพรวมของประเทศขาดความเชื่อมั่น

แม้จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแล้วแต่ทุกอย่างยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งทุกคนต่างพุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการของนายกรัฐมนตรีและโฟกัสกับเกมการเมือง ยังไม่เห็นปัจจัยอื่นที่จะเข้ามาช่วยเหลือปากท้องของประชาชนได้

ในฐานะผู้ประกอบการ ยอมรับว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงไปมาก คนซื้อสินค้าน้อยลง 30-35% เห็นได้ชัดในกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ การใช้จ่ายของประกอบธุรกิจและคนอาชีพส่วนตัวก็ลดลง ในขณะที่พนักงานเงินเดือนประจำเริ่มใช้เงินอย่างระมัดระวัง เหลือเพียงกลุ่มข้าราชการประจำที่ยังคงใช้จ่ายปกติ

“ตอนคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนจะมีทิศทางที่ดี คนเริ่มมีความหวังแม้ไม่มีความชัดเจน พอได้นายกคนใหม่ก็ต่างอุ่นใจขึ้นมาบ้าง แต่ก็กลัวว่ายังไม่ทันทำอะไรเศรษฐกิจก็จะแย่ไปกว่านี้ เพราะหลายคนจ้องจะเล่นการเมืองอย่างเดียว ทั้งที่เรื่องเศรษฐกิจสำคัญกว่า และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของนายกฯเพียงคนเดียว ผู้บริการคนอื่นอย่างกระทรวงพาณิชย์ก็ต้องทำด้วย หากอ้างว่าเศรษฐกิจโลกไม่ดีทำไมเวียดนาม สิงคโปร์ ยังดีกว่าประเทศไทย เงินที่มีอยู่ของรัฐบาลต้องมองแล้วว่าจะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้ออย่างไร”

 

หน้า 15 ฉบับที่ 4,028 วันที่ 19 - 21 กันยายน พ.ศ. 2567